พฤติกรรมการกินที่ดีสร้างได้ตั้งแต่ยังเด็ก

วันที่ 15 สิงหาคม 2560  4,050 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 205 เดือนสิงหาคม 2560

คุณแม่หลายคนมักเจอกับปัญหาลูกกินยาก ลูกไม่ยอมกินผักผลไม้ ลูกอมข้าว ลูกเลือกกิน หรือลูกติดเล่นจนปวดหัว บางคนก็ใจอ่อนยอมลูกจนลูกติดเป็นนิสัยมาจนโตทำให้แก้ยากและอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นหากเด็กเลือกกิน โดยเฉพาะไม่ยอมกินผักผลไม้ก็จะทำให้ขับถ่ายลำบาก มีปัญหาท้องผูก ไม่สบายท้อง ส่วนเด็กที่อมข้าวไม่ยอมกลืนก็จะทำให้ฟันผุ มีกลิ่นปาก ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กที่เลือกกินก็จะได้สารอาหารบางอย่างเกิน บางอย่างขาดไป ส่วนปัญหาในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ปกครองที่จะช่วยกันสร้างพฤติกรรมการกินของลูกน้อยให้ถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กอยู่

พฤติกรรมการกิน

★ ปัญหาที่พบบ่อยและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ลูกอมข้าว ไม่ยอมกินอาหาร 

  • กินอาหารให้เป็นเวลาพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว
  • สร้างบรรยากาศการกินที่ดี (ไม่เคี่ยวเข็ญ ไม่บังคับ ไม่แสดงอารมณ์โกธรหรือไม่พอใจต่อหน้าลูก ให้พูดคุยกันแต่เรื่องดีๆ บนโต๊ะอาหาร)
  • งดดูโทรทัศน์ ฟังเพลง หรือเล่นของเล่นในมื้ออาหาร
  • มีเก้าอี้สำหรับลูกที่วางอยู่ใกล้กันกับแม่
  • ตักอาหารให้ลูกครั้งละน้อยๆ กล่าวชื่นชมเมื่อลูกกินหมด ยิ้มให้กำลังใจและไม่ตำหนิถ้าลูกกินไม่หมดเมื่อลูกอิ่ม
  • จำกัดเวลาอาหารครั้งละไม่เกิน 30 นาที เมื่อหมดเวลาให้เก็บอาหารแม้ว่าลูกจะกินไปเพียงเล็กน้อย
  • ไม่ให้ลูกกินจุบจิบ

ลูกเลือกกิน

  • ฝึกให้ลูกค่อยๆ คุ้นเคย โดยดัดแปลงอาหารให้เป็นรูปร่างต่างๆ หรือจัดอาหารบนโต๊ะอาหารบ่อยๆ ชักชวนให้ลองกินทีละน้อยโดยไม่บังคับ
  • คุณแม่ควรกินอาหารชนิดนั้นให้ลูกดูเป็นตัวอย่างด้วยท่าทีที่ชอบ
  • ไม่บังคับให้ลูกกิน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังทำให้ลูกเกลียดอาหารชนิดนั้น

พฤติกรรมการกิน

ลูกปฏิเสธไม่ยอมกินอาหารชนิดใหม่

  • การปฏิเสธอาหารชนิดใหม่พบได้ตามปกติ คุณแม่ต้องยอมรับ ไม่บังคับให้ลูกกิน และพยายามจัดอาหารชนิดใหม่นั้นในมื้ออื่น ทำทุกวันจนกระทั่งลูกยอมรับ ลูกอาจปฏิเสธ 15-20 ครั้งกว่าจะยอมรับอาหารนั้นในที่สุด
  • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับอาหารชนิดใหม่ในช่วงเวลาที่เงียบสงบก่อนถึงมื้ออาหาร
  • จัดอาหารที่ลูกคุ้นเคยร่วมกับอาหารชนิดใหม่ เพื่อให้เขาได้ลองเปรียบเทียบกัน ให้คุณแม่ชวนลูกพูดคุยถึงรสชาติ สีสัน รูปร่าง และกลิ่นของอาหารที่กิน เน้นความเหมือนกันระหว่างอาหารชนิดใหม่กับอาหารที่ลูกคุ้นเคย ให้โอกาสลูกลองอาหารชนิดใหม่โดยใช้ประสาทสัมผัสของตัวลูกเอง
  • พยายามทำอาหารชนิดใหม่นั้นด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิม (เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารไปเรื่อยๆ)      
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอาหาร
  • พ่อแม่ควรยิ้มและกล่าวชมเชยลูกเมื่อเขากินอาหารชนิดใหม่
  • ถ้าลูกปฏิเสธการกินอาหารมื้อหลักเป็นประจำควรต้องคำนึกถึงการแพ้อาหารด้วย เช่น ถ้าแพ้แป้งสาลีให้กินข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวแทนเส้นสปาเกตตี

ลูกไม่จำเป็นต้องกินอาหารทุกๆ ชนิด อาจมีอาหารที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่อาจช่วยลูกได้โดยให้ลองกินอาหารชนิดใหม่ในสถานที่อื่น เช่น ที่บ้านเพื่อนหรือที่สาธารณะ เป็นต้น

ลูกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์

  • ถ้าลูกอยู่ในวัยที่เริ่มสร้างเหตุผลของตัวเองอาจใช้การเล่าเรื่องที่สมจริงบ้าง ไม่สมจริงบ้าง เช่น  ถ้าเป็นลูกสาวอาจบอกว่ากินมะเขือเทศจะทำให้มีผิวสีชมพู ถ้าเป็นลูกชายอาจบอกว่ากินผักเยอะๆ จะทำให้แข็งแรงเหมือนซูเปอร์แมน หรืออาจยกตัวอย่างคนที่ลูกรู้จัก แล้วถามว่าหนูคิดว่าพี่เขาตัวสูงใหญ่เพราะอะไร แล้วให้ลูกลองตอบ จากนั้นคุณแม่ค่อยๆ อธิบายว่าเพราะพี่เขาดื่มนมและกินอาหารที่มีประโยชน์ทุกวัน

พฤติกรรมการกิน

★ ลูกไม่ยอมกินอาหาร 

ลูกกินยาก

  • เพิ่มสีสันในอาหาร
  • ใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรบางชนิดเพื่อดึงดูด
  • เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร เช่น เปลี่ยนจากเมนูต้มเป็นเมนูผัด

ลูกไม่ยอมกินผัก

  • เปรียบเทียบกับตัวการ์ตูนหรือสัตว์ที่ลูกชอบ เช่น กระต่ายกินผักแล้วตาสวย
  • เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร เช่น เปลี่ยนผักต้มเป็นผักทอด
  • หั่นผักเป็นแท่งยาว นำไปต้มแล้วให้ลูกฝึกหยิบกินเอง อาจเพิ่มรสชาติโดยจิ้มกับซอสต่างๆ
  • หั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วซ่อนไว้ในอาหาร เช่น ใส่ในไส้ขนม
  • พ่อแม่กินผักให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง

ลูกกินแต่ขนม

  • ให้งดขนม ของหวาน และน้ำหวานระหว่างมื้อ เพื่อให้รู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหาร ถ้าอยากกินขนมต้องให้กินข้าวหมดจานก่อน

พฤติกรรมการกิน

การสร้างนิสัยบริโภคอาหารที่ดีตั้งแต่วัยเด็กนั้นจะช่วยส่งเสริมให้เขามีความเคยชินกับพฤติกรรมการกินอาหารอย่างนั้นต่อไป เด็กจะคุ้นเคยและไม่คิดว่าการกินผักผลไม้เป็นสิ่งผิดปกติและการกินอาหารที่ดีเป็นเรื่องแปลก นอกจากลูกจะมีสุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว การกินอาหารที่ดีและเพียงพอจะส่งผลต่อการมีสุขภาพใจและสมองที่ดีตามมาด้วย

ที่มา : โครงการ Feed for the Future คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


Tag: , Food for life, อาหารสำหรับเด็ก,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed