งานศิลปะที่ไม่มีวันตกยุค ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560  3,169 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 199 เดือนกุมภาพันธ์ 2560

คงต้องบอกว่าที่นี่ใหม่สมชื่อ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม หรือ Maiiam Contemporary Art Museum ที่เปิดมาได้ยังไม่ถึงปี แต่กลับได้รับความนิยมไม่น้อย ไม่ว่าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องแวะมา คล้ายกับมาเชียงใหม่แล้วไม่ได้มานิมมานฯ เรียกว่ามาไม่ถึงเชียงใหม่ เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับใหม่เอี่ยม ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยหันมาสนใจงานศิลปะกับเขาบ้าง

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

ใหม่เอี่ยมเริ่มต้นจากไอเดียของคุณฌอง มิเชล เบอร์เดอร์เลย์ คุณพัฒศรี บุนนาค ภรรยา และคุณเอริค บุนนาค บู๊นช์ ลูกชาย ซึ่งมองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะ จึงเลือกอำเภอสันกำแพงเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อแบ่งปันงานศิลปะที่สะสมมานานกว่า 30 ปี ซึ่งต้องบอกว่าเป็นคอลเล็กชันส่วนตัวที่ถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องก็ไม่มีทางได้เห็นกันง่ายๆ นำมาเผยแพร่ให้กับคนทั่วไปได้ชื่นชม 

เริ่มสงสัยกันไหมว่าแล้วชื่อพิพิธภัณฑ์จะเป็นการผูกมัดให้ “ใหม่เอี่ยม” อยู่ตลอดได้อย่างไร ทางพิพิธภัณฑ์มีคำอธิบายว่า “ใหม่” มาจากชื่อเมือง และแน่นอนว่าย่อมหมายถึงศิลปะสมัยใหม่และความสดใหม่ แต่ “เอี่ยม” ไม่ได้หมายถึงใหม่ถอดด้าม แต่เป็นการระลึกถึง “เจ้าจอมเอี่ยม” คุณย่าทวดของคุณเอริค พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัย 

ใหม่เอี่ยมปรับโฉมโกดังเก่าโดยแบ่งพื้นที่ให้มีความน่าสนใจตามชื่อสถานที่ โดยเฉพาะดีไซน์ด้านนอกที่ใช้ชิ้นกระจกทำเป็นงานโมเสกซึ่งสะท้อนภาพเบื้องหน้า นัยเหมือนจะบอกว่าตัวเราที่กำลังเดินเข้าสู่สถานที่แห่งนี้คือคนร่วมสมัยกับงานศิลปะที่เรากำลังจะได้สัมผัสด้วยตาตัวเอง ที่นี่วางกับดักด้วยร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีของที่ระลึกและชิ้นงานศิลปะที่เหมือนกับสปอยว่าเราจะได้พบกับสิ่งใด แถมยังยั่วเราด้วยร้านอาหารกำแพงแก้ว ร้านอาหารไทยของเชฟตูตู เชฟดังจากร้าน Food for You เราขอบอกให้กลั้นใจเดินผ่านมาอย่างไม่รีรอก่อน เนื่องจากรายละเอียดของงานศิลปะมีมากเกินกว่าที่จะใช้เวลาสั้นๆ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

เราควรเริ่มจากหอทางเดินสดุดีเจ้าจอมเอี่ยม รำลึกถึงเจ้าจอมเอี่ยม และคุณพัฒศรี บุนนาค ตามด้วยไฮไลต์ของใหม่เอี่ยมก็คือหอนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งใช้พื้นที่ชั้นล่างทั้งหมด นิทรรศการเริ่มแรกเป็นนิทรรศการ The Serenity of Madness ของผู้กำกับไทยชื่อดัง คุณเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งจัดแสดงไปเรียบร้อยแล้ว แต่นิทรรศการปัจจุบันอย่าง “นิทรรศการ The Timeless Present Moment ปัจจุบันขณะ ที่ไร้กาลเวลา”  ของคุณคามิน เลิศชัยประเสริฐ ก็ใช่ว่าจะไม่น่าสนใจ เนื่องจากพื้นที่นี้ใช้จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ราว 4-6 เดือน แน่นอนว่าภัณฑารักษ์จะคัดเลือกงานศิลปะดีๆ มาให้ชมตลอด และทำให้ทุกครั้งที่มาไม่น่าเบื่อด้วยความใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

เราตีความเอาเองว่า “ปัจจุบันขณะ ที่ไร้กาลเวลา” เป็นงานศิลปะที่มีกลิ่นอายของวิถีเซนและพุทธศาสนา มีความน้อยแต่มาก ซับซ้อนแต่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะผลงานที่ชื่อว่า “เมตตา 2559” หุ่นปั้นเหมือนคนจริง ที่แว่บแรกเราก็สงสัยเหมือนกันว่าเธอคือใครมายืนเกะกะตรงนั้น พอเข้าไปใกล้ๆ ถึงกับต้องตกใจด้วยความเหมือนในรายละเอียด สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่หุ่นแต่อยู่ในมือของเธอ หนูตัวเล็กที่ได้รับการโอบอุ้มไว้ ล้อไปกับภาพวาดอีกชิ้นของเขาซึ่งเป็นเด็กชายที่โอบอุ้มลูกหนูไว้เช่นกัน

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

ด้านหลังของหุ่นยังมีชิ้นงานเด่นอีก 3 ชิ้น วัฏสังสาร งานสัมฤทธิ์และทองคำเปลวผ่านรูปปั้นเกิดแก่ เจ็บ ตาย ในแบบของคามิน ที่เก็บรายละเอียดในเชิงเสียดสีสังคม ไม่มีอะไรพิเศษ ถ้วยชาเรียงยาวขนานไปกับอาคารพิพิธภัณฑ์ มีปลายทางเป็นรูปปั้นชายคนหนึ่งกำลังทำสมาธิ งานละเอียดและมากชิ้นแต่สื่อความหมายได้ลึกซึ้ง และวาดเส้น บนผนังกำแพง รวมผลงานวาดภาพกว่า 1,200 ชิ้น โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ตอน “ก่อนเกิด หลังตาย” “ปัจจุบันขณะ” และ “สัญลักษณ์แห่งความว่างเปล่า” นอกจากงาน 3 ชิ้นนี้ ยังรวมผลงานทางจิตวิญญาณกว่า 60 ชิ้นให้ได้เดินดูตลอดชั้นล่างที่นำเสนอเทคนิคมากกว่าเพียงภาพวาด มีทั้งสื่อผสม สื่อเสียง และอินสตอเลชันอาร์ต 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

อีกชิ้นที่เราชอบมากชื่อว่าก้อนหินที่หายไป 2558 ภาพถ่ายในสวนเซนของวัดเรียวอันจิในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ใครเคยไปคงทราบดีว่าที่นี่มีปริศนาธรรมซึ่งใช้จำนวนหินมาหลอกล่อให้เราคิดตาม เราไม่ได้ชอบเนื้อหาที่ศิลปินพยายามจะบอกเพราะรู้มาก่อนหน้านี้ แต่ชอบและรักวิธีการนำเสนอภาพถ่ายของคามิน มองผิวเผินก็คือภาพของคนที่กำลังพยายามนับหินให้ครบตามจำนวน ซึ่งธรรมดาและไม่มีอะไรพิเศษ แต่ถ้ามาชมนิทรรศการอย่างลวกๆ จะไม่มีทางเห็นเลยว่าเบื้องหลังของภาพยังมีภาพอีก 2 ภาพซ่อนไว้หลังเฟรม เป็นภาพอะไรและความหมายคืออะไร คุณต้องไปดูด้วยตัวเอง 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

ส่วนชั้นบนเป็นคอลเล็กชันส่วนตัวของครอบครัวและพื้นที่แสดงงานจากศิลปินร่วมสมัยชั้นครู (เขาว่ามาแบบนั้น สารภาพว่าหลายชิ้นงานเคยเห็น แต่ไม่รู้จักศิลปินจริงจัง) แน่นอนว่ามีชื่อของคามินรวมอยู่ด้วย รวมถึงศิลปินอย่างชาติชาย ปุยเปีย, มานิต ศรีวานิชภูมิ เจ้าของผลงาน Pink Man, อานิดา ยู อาลี ศิลปินชาวเขมร โดยเฉพาะภาพชิ้นใหญ่และเด่นที่สุดของห้องจัดแสดง เราสารภาพว่าหาชื่อผลงานไม่เจอ แต่เด่นด้วยรายละเอียดที่เสียดสีสังคมไปพร้อมกัน โดยเฉพาะรูปปั้นของคนสองวัยสองบุคลิกแต่ทำงานอาชีพเดียวกันคือคนคัดเลือกภาพ คนหนึ่งใส่สูทผูกไท อีกคนคาดผ้าขาวม้าถือกระเป๋าเขียนว่าศิลปะเพื่อชุมชน มันมีความย้อนแย้งของบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวกับงานศิลปะ 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

อดใจรอว่านิทรรศการหมุนเวียนชิ้นใหม่จะเกี่ยวกับอะไร ซึ่งน่าจะเริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไปชมงานศิลปะที่สะสมไว้ก็คุ้มค่าแล้ว

Maiiam Contemporary Art Museum
ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดบริการ 10.00-18.00 น. (ปิดวันอังคาร) โทร. 08-1386-6899  www.maiiam.com
บัตรเข้าชมราคา 150 บาท 


Tag: , งานศิลปะ, นิทรรศการ, พิพิธภัณฑ์, เชียงใหม่,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed