ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนยังคงต้องระมัดระวังตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไปจากเดิม
การเข้าไปในที่ชุมชนซึ่งมีคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งการรวมกลุ่มเพื่อสังสรรค์หรือจัดงานเลี้ยงในวันสำคัญต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การเรียนหนังสือในห้องเรียนของเด็กๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการเรียนการสอนในระบบออนไลน์แทน การปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตตามแบบ New Normal นี้จึงเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ความสนุกสนานและสีสันในชีวิตอาจลดลงไปบ้าง ในคนที่มีความวิตกกังวล ความเครียด ความไม่สบายกายไม่สบายใจ หากไม่สามารถขจัดความรู้สึกเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะเครียดสะสมและมีปัญหากระทบกับการนอนหลับ
ความเครียดเหล่านี้จะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายจำนวนมาก ร่างกายขาดความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress)” ส่งผลให้เซลล์ต่างๆ เกิดการอักเสบ เสียหาย ถูกทำลาย ในกรณีที่เซลล์อักเสบเรื้อรังเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้
การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้ 5 สี พืชสมุนไพร ธัญพืช เป็นต้น จะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น รู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับสบาย เช่น ขี้เหล็ก โกศจุฬาลัมพา (กัญชาป่า) เจียวกู่หลาน ลาเวนเดอร์ คาโมมายล์ และโสมอินเดีย
โสมอินเดีย หรือ Ashwagandha เป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะตัวคล้ายกับกลิ่นของม้า จึงได้ถูกเรียกว่า Ashva ที่หมายถึง “ม้า” กับคำว่า Gandha ที่หมายถึง “กลิ่น” นั่นเอง เหตุที่สมุนไพรชนิดนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพร จนได้รับการขนานนามว่า “โสมอินเดีย” เพราะสามารถนำมาใช้เป็นยาอายุรเวท โดยมีสรรพคุณทางยาคล้ายคลึงกับโสมจีนที่ใช้ในการแพทย์แผนจีน ซึ่งถูกนำมาใช้นานกว่า 3,000 ปีแล้ว
ลักษณะของต้นโสมอินเดียจะเป็นทรงพุ่ม สูง 60-120 เซนติเมตร ใบเรียวรูปไข่ ดอกสีเขียวแกมเหลือง ผลกลมสีแดงอมส้ม สรรพคุณทางยาจะแบ่งออกตามส่วนต่างๆ ดังนี้ รากมีรสขมใช้เป็นยาสมานแผล ขับปัสสาวะ และเป็นยาชูกำลัง ส่วนใบมีคุณสมบัติต้านการอักเสบทำหน้าที่คล้ายกับยาปฏิชีวนะ ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงตับ ยับยั้งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังพบอีกว่าโสมอินเดียมีฤทธิ์ต้านความเครียด สามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากความเครียดได้ ซึ่งคุณสมบัตินี้เหมือนกับที่พบในโสมเกาหลี
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานโสมอินเดียในรูปแบบของสารสกัด แล้วพบว่าสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ หอบหืด นอนไม่หลับ และภาวะสมองเสื่อมในวัยชราได้ โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ สารในกลุ่ม Withanolides, Sitoindosides และสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและทางการแพทย์ที่สำคัญชนิดอื่นๆ เช่น Anaferine, Anahygrine, Cuscohygrine, Scopoletin, Withanine และ Withaninine เป็นต้น
จากสรรพคุณทางยาหลายประการนี้ ทำให้มีการนำโสมอินเดียมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพ ในการศึกษาของ Dey และคณะในปี 2018 พบว่า ผู้ที่รับประทานสารสกัดจากโสมอินเดียในปริมาณ 300 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 เดือน (60 วัน) มีความเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทาน โดยปริมาณสารสกัดจากโสมอินเดียที่มีการศึกษาวิจัยในคนที่พบในปัจจุบันจะมีปริมาณอยู่ระหว่าง 125 มิลลิกรัม ไปจนถึง 5 กรัม การรับประทานจึงควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเสียได้ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดรับประทานทันที และในผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ การบริโภคอาหารเสริมเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในการดูแลสุขภาพเท่านั้น การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนควรเริ่มจากการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และรับประทานให้หลากหลาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดสรรตารางกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการพักผ่อน
จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนกว่า
เอกสารอ้างอิง
- กรมสุขภาพจิต. กินสมุนไพรฤทธิ์ผ่อนคลาย แก้ปัญหานอนไม่หลับผู้สูงวัย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.dmh.go.th/sty_lib/news/news/view.asp?id=30159.
- Vijay K, BhartiJitendra K. Ashwagandha: Multiple Health Benefits. In: MalikRamesh CG. Editor. Nutraceuticals Efficacy, Safety and Toxicity. London: Elsevier Inc; 2016. p. 717-33.
- Mehrotra V, Mehrotra S, Kirar V, Shyam R, Misra K, Srivastava AK, et al. Antioxidant and antimicrobial activities of aqueous extract of Withania somnifera against methicillin-resistant Staphylococcus aureus. J Microbiol Biotech Res 2011;1:40-5.
- Kaul KN. On the origin, distribution and cultivation of Aswagandha, the so called Withania somnifera Dunal, of Indian Literature on Materia Medica. In: Pharmaceutical and Drug Committee Symposium on the Utilisation of Indian medicinal plants, Lucknow. 1957. p. 7–8.
- Atal CK, Schwarting AE. Aswagandha, an ancient Indian drug. Econ Bot 1961;15(3):256-63.
- Mozaffarian V. Trees and Shrubs of Iran. Farhange Moaser, Tehran, Iran; 2003. p. 874-7.
- Chandrasekhar K, Kapoor J, Anishetty. A prospective, randomized double-blind, placebo-controlled study of safety and efficacy of a high concentration full-spectrum extract of Ashwagandha Root in reducing stress and anxiety in adults. Indian J Psychol Med 2012;34(3): 255-62.
- Mahdi AA , Shukla KK, Ahmad MK, Rajender S, Shankhwar SN, Singh V, et al. Withania somnifera improves semen quality in stress-related male fertility. Evid Based Complement Alternat Med 2009;2011:1-9.
Tag:
Food for life
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น