การพูดว่าสนามหญ้ากินได้ น่าจะเป็นคำพูดของสัตว์ประเภทม้า วัว ไก่ นก ซึ่งนอกจากจะกินใบหญ้าแล้วก็ยังกินวัชพืชที่ขึ้นมาแทรกในสนามหญ้า บ่อยครั้งวัชพืชเหล่านี้งอกงามเสียยิ่งกว่าสนามหญ้าที่เฝ้าทะนุถนอม ใส่ปุ๋ยรดน้ำไม่เคยขาด คนรักสนามหญ้าต้องการสนามหญ้าสวยๆ ต้องคอยเฝ้าถอนและดึงทิ้งสิ่งที่เรียกว่าวัชพืช โดยไม่ทันคิดหรือรู้ว่าพืชหลายอย่างที่ฉวยโอกาสกับสนามหญ้าของเรานั้นเป็นผักที่กินได้ กินอร่อยด้วย

ผักที่ขึ้นแทรกในสนามหญ้าหรือแปลงผักสวนครัว หรือแม้กระทั่งที่ดินขนาดเล็กๆ รอบบ้านนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นผักที่ขึ้นไปตามริมทางหรือที่ดินรกร้าง เกสรปลิวมาตกในบริเวณบ้าน หรือมีนกช่วยนำมา หากเราคอยกำจัดอยู่ประจำ เราก็ไม่ได้เห็นสภาพของต้นและใบยามที่โตเต็มที่ งามจนต้องสงสัยว่า “งามขนาดนี้มันน่าจะกินได้”
วัชพืชมากมายที่คนเมืองกรุงไม่รู้จัก เป็นพืชที่ชาวบ้านในชนบท ผู้คนตามไร่นาป่าเขาเก็บมากินเป็นประจำ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อผักมากินกับน้ำพริก ไม่ว่าจะกินเป็นผักสดหรือลวกก่อน และไม่ใช่ว่าคนไทยกินไม่เลือก เจอผักอะไรขึ้นกับพื้นดินก็จะกิน
ฝรั่งเองก็ไม่ต่างกัน ผักหลายชนิดที่ขึ้นมาในสนามหญ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิและซัมเมอร์ ฝรั่งก็ถือว่าเป็นของดี สไตล์ผักจากสวน จากสนามหญ้า เช่น ใบของ Dandelion (แดนดิไลออน) ที่มีลักษณะเป็นดอกสีเหลืองขนาดเล็ก ขึ้นกระจายไปเป็นพรม ลักษณะใบของแดนดิไลออนพอจะเปรียบเทียบได้คล้ายกับผักสลัดร็อกเก็ต (ซึ่งนิยมเรียกกันว่าอารูกูลา - Arugula) แต่เวลาเจอตามสนามหญ้าสาธารณะก็มักจะไม่มีใครเด็ดมาทำสลัด เพราะเกรงว่าบริเวณนั้นอาจจะมีสัตว์ทั้ง 2 เท้า และ 4 เท้ามาระบายของเสียไว้ แต่หากขึ้นในสนามหรือบริเวณรอบบ้าน ช่วงที่ใบกำลังงาม ก็ต้องเก็บมากินเป็นผักปลอดสาร สด กรอบได้ใจ
ผักที่ชอบขึ้นแทรกมาตามขอบสนามหรือริมทาง ที่ทั้งไทยทั้งฝรั่งกินคือผักในตระกูลดอกหงอนไก่ ที่เรียกว่าแอมารานธ์ (Amaranth) หรือพวกผักโขมนั่นเอง นอกจากจะไปซื้อมาจากตลาดเพื่อมาผัดน้ำมันหอย หรือทำเป็นผักโขมอบชีสแล้ว ผักที่หน้าตาคล้ายกันแต่ยังไม่เคยลองคือผักโขมไทย หรือเรียกว่าผักโขมหัด มักจะขึ้นเป็นพุ่มเตี้ยๆ ปลายก้านมีดอก ถ้าเด็ดบ่อยๆ ยิ่งแตกก้านให้มีกินยาวนาน
ผักโขมมีหลายชนิด มีหลายสี ใบอ่อนจะเจือรสขมหวาน ใช้ผัดน้ำมันหอย อบชีส ต้มจืด หรือลวกเคียงน้ำพริกได้ดี ผักโขมมีประโยชน์สารพัดไม่ว่าจะพันธุ์ไหน ข้อสำคัญคือผักโขมไม่ใช่ผักขม ซึ่งคือผักสปิแนช (Spinach) หรือปวยเล้ง ถ้าไม่พยายามพูดให้ถูกว่า “ผักโขม” แต่พูดว่าผักขมจนชิน ก็จะเรียกผิดไปตลอดชีวิต
ผักเบี้ย เป็นผักที่ขึ้นตามริมทาง ตามสนาม นอกจากขึ้นแทรกตามหญ้าแล้วยังชอบขึ้นแทรกจากก้อนหินหรือก้อนอิฐ ผักเบี้ยฝรั่งเรียกว่าเพอร์สเลน (Purslane) ผักเบี้ยในเขตชายทะเลเรียกว่าผักเป๊ะ ผักเบี้ยมีลักษณะใบและก้านเป็นพืชอุ้มน้ำ แต่เป็นพืชที่มีความทนทาน ทนแล้งได้ดี เมื่องอกแล้วก็จะอยู่ได้ แต่ไม่งาม รอจนกว่าจะได้น้ำ ผักเบี้ยทะเลจะมีก้านสีแดง มีดอกสีชมพูน่ารัก ผักเบี้ยกินดิบได้เลย แต่วิธีที่สะดวกคือเอามาลวก ผัด หรือใช้ชุบแป้งทอดแบบเทมปุระ ผักเบี้ยจะเด็ดทั้งก้าน ไม่ต้องปลิดใบ ฝรั่งจะทำเป็นสลัดผักเบี้ยสด ผสมไปกับผักสลัดอื่นๆ เช่น มะเขือเทศ แตงกวาฝานแว่น ร็อกเก็ต และอื่นๆ
ผักคราดหัวแหวน ที่เรียกกันสั้นๆ ว่าผักคราด ก็เป็นผักจากสนามหญ้าหรือริมทางที่กินได้ ลักษณะของผักคราดคือมีใบเป็นรูปหัวใจเรียว ช่อดอกมีก้านยาวและดอกมีลักษณะเป็นตุ้มสีเหลืองไส้สีส้มน้ำตาล ผักคราดบางท้องที่เรียกว่าผักเผ็ด เพราะมีรสเจือเผ็ดเช่นเดียวกับผักร็อกเก็ตและผักกาดฮีน ยอดอ่อนและใบอ่อนนิยมกินเป็นผักสดแกล้มกับอาหารอีสาน เช่น ลาบ น้ำตก ก้อย หรือจะไม่กินสดก็ใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น ชาวเหนือใส่ผักคราดในแกงแค ชาวอีสานนำไปใส่กับอ่อม ทั้งอ่อมปลา อ่อมกบ อ่อมไก่ ส่วนในภาคใต้นำยอดอ่อนไปแกงใส่กุ้ง หอย ปู ปลา เพราะกลิ่นของผักคราดจะช่วยเพิ่มความน่ากิน เช่นเดียวกับการใส่ใบยี่หร่า ใบกะเพรา หรือโหระพาในแกงหลายๆ อย่าง ผักคราดหากไม่ขาดน้ำจะงามทั้งใบและยังมีดอกดก ปล่อยให้ขยายพันธุ์เองจนกลายเป็นไม้ประดับได้เลย
ตามแนวกำแพงบ้านหรือพื้นที่ซึ่งมีความชุ่มชื้นเสมอ เช่น พื้นเรือนกล้วยไม้ หรือเรือนเพาะชำ จะพบผักปลาบ เป็นพืชก้านเปราะเป็นปล้องทอดไปตามพื้น แต่หากขึ้นหนาแน่นก็จะเบียดกันชูก้านขึ้น ผักปลาบมีดอกสีฟ้าเข้มสวย แม้จะเป็นดอกเล็กๆ ก้านอ่อนและใบของผักปลาบสามารถนำมาผัดกินได้เช่นเดียวกับผัดผักบุ้งหรือผัดถั่วงอก หรือจะนำก้านและใบมาต้มจนได้น้ำชาไว้ดื่ม
ใบบัวบกก็เป็นพืชที่ถูกหมางเมินเวลาที่ขึ้นตามทางระบายน้ำในบ้าน หรือในบริเวณที่ชุ่มชื้น ทั้งๆ ที่ กินชาใบบัวบกแล้วชื่นใจดี หรือดื่มน้ำใบบัวบกแล้วรู้สึกว่าช่วยบำรุงสุขภาพ ไปจนถึงกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เรียกว่า Gotu Kola หรือใบบัวบกสกัดบรรจุแคปซูล แต่พอเห็นใบบัวบกขึ้นในบริเวณบ้านกลับเฉยเมย ใบบัวบกกินสดๆ แกล้มกับส้มตำ ลาบ น้ำพริก แล้วยังใส่ในแกงต่างๆ ได้เหมือนกับแกงที่ใส่ใบไม้ขม อย่างเช่น ใบยอ ใบชะพลู ใบขี้เหล็ก เวลาจะกินแกงคั่วใส่ใบยอ ขี้เกียจไปหาใบยอเพราะไม่ได้ปลูกไว้ แต่มีบัวบกขึ้นอยู่ก็ทดแทนได้เลย ความอร่อยสู้กันได้
วัชพืชที่เป็นผักกินได้เหล่านี้นอกจากใช้ทำอาหารแทนผักแล้ว ล้วนมีคุณสมบัติทางยามากมาย จากส่วนต่างๆ ทั้งใบ ก้าน และราก แต่การจะนำพืชผักมาปรุงยาอาจจะซับซ้อนไปสำหรับหลายคน เอาเป็นว่าถ้าเจอวัชพืชที่เมื่อพินิจพิเคราะห์ก้านและใบดูแล้วน่าจะกินได้ ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนกำจัดแบบล้างโคตร ลองกูเกิลดูก่อนสักนิด ถ้าไม่รู้ชื่อก็ไม่เป็นไร ใช้มือถือถ่ายภาพแล้วถามในกูเกิลรูปภาพได้เลย
เมื่อรู้จักชื่อแล้วก็จะสืบค้นได้ว่า กินได้ อร่อยด้วยหรือไม่
Tag:
Menu Digest, ผัก
ความคิดเห็น