ทำความรู้จัก Ethical Eating กินรักษ์โลก

วันที่ 1 มีนาคม 2559  5,980 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 200 เดือนมีนาคม 2560

หลังจากที่เทรนด์และวิถีการกินแบบต่างๆ ทยอยหมุนเวียนมาให้เสพและทดลองกันเป็นระยะๆ ตอนนี้ก็ได้เวลาของการกินแบบรวบตึงที่รวบรวมความดีงามของทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน อันมาพร้อมกับคำสั้นง่ายได้ใจความอย่าง "กินอย่างมีจริยธรรม" (Ethical Eating)

Ethical to Eat : กินแบบมีหลักการ
แม้คำว่า "กินอย่างมีจริยธรรม" จะเป็นที่รู้จักและเริ่มใช้กันเมื่อประมาณ 2-3 ปีมานี้ แต่ความเป็นจริงแล้วเรื่องที่ว่ากลับไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

เนื่องจากคำนี้นับเป็นสาขาหนึ่งที่แตกตัวมาจากหลักการ "การบริโภคเปี่ยมจริยธรรม" (Ethical Consumption) อันเป็นวิถีการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ได้คำนึงถึงแต่ราคาและคุณภาพเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการมองย้อนไปถึงที่มาว่าสินค้าและบริการประเภทนั้นได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกเรามากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของสิ่งแวดล้อม เรื่อยไปจนถึงสิทธิมนุษยชน (ทั้งของคนและสัตว์)

ด้วยเหตุนี้เมื่อเรามาโฟกัสที่อาหารกันโดยเฉพาะ เหล่า "นักกินที่มีจริยธรรม" (Ethical Eater) จะมีวิถีในการเลือกกินอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่า "กินแบบรักษ์โลก" นั้น คงต้องมาดูกัน
 

Fruits & Vegetables : การเลือกผักและผลไม้
หลักการเลือกผักและผลไม้นั้น แน่นอนว่าคำแรกๆ ที่เราต้องมองหาเลยก็คือคำว่า ออร์แกนิก (Organic) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผักและผลไม้เหล่านั้นปราศจากสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเรา และไม่ทิ้งสารพิษต่อโลกใบนี้

แต่ถ้าใครยังมองว่าผักผลไม้ออร์แกนิกยังคงหายากเกินไป หลักวิธีเลือกกินง่ายๆ ก็คือ การกินผักผลไม้ตามฤดูกาล (Seasonal) ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าผลิตผลอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด ไม่ได้เกิดจากการบังคับตัดตอนให้ออกดอกผลก่อนเวลา โดยเฉพาะรสชาติของผลไม้ยิ่งอยู่ในฤดูก็ยิ่งอร่อย
 

Ethical Eating : กินรักษ์โลก

Beef & Pork : การเลือกเนื้อวัวและเนื้อหมู
เรามักจะคุ้นเคยกับผักผลไม้ออร์แกนิก แต่สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เราอาจจะไม่เคยได้ยินคำนี้สักเท่าไร ดังนั้นถ้าเอ่ยถึงเนื้อสัตว์ออร์แกนิกก็จะหมายถึงว่าสัตว์เหล่านั้นไม่ได้ผ่านการถูกให้วัคซีนหรือฮอร์โมนอื่นใด รวมถึงอาหารก็ต้องเป็นออร์แกนิก และที่สำคัญที่อยู่อาศัยก็ต้องเป็นทุ่งหญ้าเปิดให้วัวตัวน้อยได้ละเลียดอาหารได้อย่างสบายๆ อีกด้วย (อย่างน้อยในอัตราส่วนร้อยละ 30 ของอาหารทั้งหมด)

นอกจากนี้คำที่บ่งบอกความอร่อยถูกจริยธรรมก็ยังมีฟรีเรนจ์ (Free-Range) อันหมายถึงการเลี้ยงแบบปล่อย แสดงว่าบรรดาสัตว์น้อยใหญ่สามารถกินอาหารและน้ำได้ไม่อั้น อีกทั้งยังมีอิสระในการเดินไปไหนต่อไหนโดยไม่มีจำกัดเวลา (แต่อาจจำกัดพื้นที่) ส่วนคำว่าเนเชอรัล (Natural) ก็จะหมายถึงการเลี้ยงที่ใช้วิธีธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปลอมปนให้เหลือน้อยที่สุด แต่ยังไม่เข้มข้นเท่าออร์แกนิก

ร่วมด้วยกลาสเฟ็ด (Grass-Fed) คำนี้จะใช้กับเนื้อวัวเท่านั้น เพื่อบอกว่าเนื้อวัวกินหญ้า (อาหารธรรมชาติ) เป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ตาม คำนี้ก็ยังคงแตกต่างกับคำว่าออร์แกนิกอยู่ดี เพราะวัวที่เลี้ยงแบบออร์แกนิกสามารถกินอาหารอื่นอย่างธัญพืชที่เป็นออร์แกนิกได้เช่นกัน
 

Chicken or Eggs : การเลือกไก่และไข่
พูดถึงไก่และไข่ออร์แกนิกคงต้องบอกว่าความหมายคงไม่ไกลจากเนื้อวัวและหมู เมื่อไก่เหล่านั้นมีพื้นที่วิ่งเล่น ไร้ฮอร์โมนและสารกระตุ้น อีกทั้งยังได้กินอาหารที่มีประโยชน์ปลอดภัย

สำหรับคำที่ได้ยินบ่อยๆ คงต้องยกให้กับฟรีเรนจ์ (Free-Range) ไก่ฟรีเรนจ์จะหมายถึงไก่ที่เลี้ยงให้พื้นที่และมีอาณาเขตในการหายใจ เพราะการเลี้ยงไก่ในระบบอุตสาหกรรมประชากรไก่ต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นและมีพื้นที่เพียง 1 กระดาษ A4 เท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจงว่าต้องให้อาหารหรือมีวิธีเลี้ยงแบบไหน ขณะที่คำว่าเนเชอรัล (Natural) ก็จะเป็นการเลี้ยงโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารที่ไม่พึงประสงค์เหมือนวัวและหมู ทั้งนี้สัตว์ปีกที่ได้จากการออกล่าก็จะจัดอยู่ในหมวดเนเชอรัลเช่นกัน

อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเคจฟรี (Cage-Free) จะใช้กับสัตว์ปีกที่ถูกเลี้ยงโดยไม่ถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ หมายถึงพวกมันสามารถมีพื้นที่ขยับปีกและวางไข่ในรังได้
 

Ethical Eating : กินรักษ์โลก

Local or Market-Fresh : อาหารสดใหม่
มาปิดท้ายประเด็นกับคำว่าโลคัล (Local) ซึ่งเรามักจะได้ยินว่าอาหารที่ใช้ปรุงนั้นเป็นของโลคัล หรืออาหารในท้องถิ่น ซึ่งความจริงแล้วคำนี้ใช้ได้จริงๆ ก็ต่อเมื่ออาหารนั้นอยู่ไม่ไกลจากบริเวณดังกล่าวเกิน 400 ไมล์ หรือราวๆ 644 กิโลเมตร

กล่าวกันว่าจุดประสงค์ของการเลือกใช้อาหารในท้องถิ่นก็มาจากความต้องการที่จะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งอาหารในระยะทางไกล นอกจากนี้ยังมีคำน่ารักๆ อย่าง มาร์เก็ต เฟรช (Market-Fresh) ที่จะหมายถึงเชฟไปเลือกของในตลาดและฟาร์ม (สดจากตลาด) ก่อนจะปรุงเป็นอาหารจานเด็ด

ส่วนคำว่าแฟร์เทรด (Fair-Trade) ที่เข้าหูบ่อยๆ ในช่วงนี้ก็หมายถึงการค้าที่มีความยุติธรรม โดยจะมีองค์กรขนาดเล็กคอยคุมดูแลความเป็นไปของแต่ละฟาร์ม เพื่อรับประกันว่าเกษตรกรจะได้รับเงินค่าจ้าง ค่าผลผลิตที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันเกษตรกรก็จะต้องเรียนรู้ที่จะทำการเกษตรแบบอนุรักษ์ โดยผลผลิตที่ออกมาก็จะได้รับตราประทับว่าเป็นสินค้าแฟร์เทรด

แม้สินค้าแฟร์เทรดจะไม่ได้รับประกันอย่างชัดเจนว่าเป็นออร์แกนิก แต่อย่างน้อยก็นับเป็นก้าวสำคัญของการผลิตเพื่อการอนุรักษ์และยั่งยืนนั่นเอง
 

แหล่งข้อมูล
บทความ " You Want To Order A ‘Natural,’ ‘Organic,’ ‘Free-Range’ Meal, But You Don’t Know What That Means" โดย Sara Boboltz
สืบค้นที่ http://www.huffingtonpost.com/https://en.wikipedia.org/wiki/Ethical_eating


Tag: , Nice To Know, ผัก,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed