กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567  370 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 287 เดือนมิถุนายน 2567

ฉลากดีไซน์สวยบนขวดเหล้าสำหรับนักดื่มทั่วไปอาจเป็นเพียงชื่อแบรนด์และแหล่งที่มา ทว่าในมุมมองของนักสะสมอาจเปรียบได้กับหนังสือที่ร้อยเรียงเรื่องราวสนุกๆ ให้เล่าสู่กันฟังได้ไม่รู้จบ

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม Managing Director of Kawinda Beverage Co., Ltd. หนุ่มนักสะสมเหล้าบ๊วยตัวยง จากขวดแรกที่ได้มาในขณะศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น สู่ธุรกิจผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากกว่า 300 แบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก รวมถึงเหล้าผลไม้อีกกว่า 200 แบรนด์ ถือเป็นแหล่งรวมเหล้าบ๊วยและเหล้าผลไม้มากที่สุดในเมืองไทยตอนนี้เลยก็ว่าได้

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

คุณกอล์ฟเล่าว่าพอได้ลองครั้งแรกก็ชื่นชอบในรสชาติ ประกอบกับหลงรักแพ็กเกจเก๋ๆ ทำให้เก็บสะสมมาเรื่อยๆ จนเกิดไอเดียเปิดร้านขายออนไลน์ในปี 2020 โดยตั้งเป้าเป็นร้านเหล้าบ๊วยที่มีเหล้าบ๊วยมากที่สุดในเมืองไทย “การผลิตเหล้าบ๊วยของญี่ปุ่นเปรียบเสมือนสินค้าโอท็อปของบ้านเรา แต่ความแตกต่างคือไม่สามารถซื้อที่อื่น ต้องซื้อในเมืองที่ผลิตเท่านั้น ทำให้เกิดเอกลักษณ์ที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังนิยมซื้อเป็นของฝาก ด้วยความที่หาซื้อยากและเป็นสินค้าในกลุ่ม Niche Market ที่ไม่แพร่หลายเหมือนเครื่องดื่มชนิดอื่น บางแบรนด์ไม่มีขายในตลาด บ้างก็ขายเฉพาะร้านอาหาร บางแบรนด์หยุดผลิตด้วยเหตุผลต่างๆ ก็ยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม กลายเป็นแรร์ไอเทมของนักสะสม การรวบรวมเหล้าบ๊วยจึงต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม บางครั้งต้องติดต่อผู้ผลิตในญี่ปุ่นเพื่อตามหาผู้นำเข้าในไทย รวมถึงบางแบรนด์เราก็เป็นผู้นำเข้าเอง

“จากขายออนไลน์ก็ขยับขยายมาเปิดร้านเล็กๆ ตกแต่งน่ารักสไตล์ญี่ปุ่น โชว์ขวดเหล้าบ๊วยสวยๆ ที่ลูกค้าเห็นแล้วต้องร้องว้าว ประกอบกับมีอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวยิ่งทำให้ร้านเติบโตแบบก้าวกระโดด ลูกค้าต้องต่อคิวยาว พอเดินเข้ามาแล้วละลานตาเลือกไม่ถูกอีก เราก็เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ นำมาสู่การเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น Umeshuthai ปากซอยสุขุมวิท 45 เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ดื่มเหล้าบ๊วยกับอาหารได้อย่างเพลิดเพลิน”

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

วัฒนธรรมการดื่มเหล้าบ๊วยของชาวญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยความเรียบง่ายและยังเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ของครอบครัวในรูปแบบหนึ่ง “บ๊วยเป็นวัตถุดิบที่หาซื้อได้ทั่วไป บางบ้านปลูกไว้เพื่อนำมาทำบ๊วยดองไว้กินกับข้าว หรือใส่ในข้าวปั้น บ้างก็เอามาดองเหล้า ซึ่งเหล้าบ๊วยทำง่ายไม่ยุ่งยาก มีวัตถุดิบสำคัญเพียง 3 อย่าง ได้แก่ บ๊วย น้ำตาล และเหล้ากลั่น ใส่ในไหหมักทิ้งไว้ 1 ปีก็ดื่มได้แล้ว ถือเป็นกิจกรรมสนุกๆ ในครอบครัว ทำให้เหล้าบ๊วยเป็นที่นิยม หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยผ่อนคลายและช่วยย่อยอาหาร”

แม้กรรมวิธีการผลิตจะเรียบง่าย แต่เมื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าก็มีการเพิ่มมูลค่าให้โดดเด่น ซึ่งเกิดจากเบสของเหล้าที่ใช้หมัก โดยทั่วไปจะใช้เหล้าขาว (หรือเหล้ากลั่น) โชจู และสาเก นอกจากนี้ยังมีการนำบรั่นดี วิสกี้ และวอดก้ามาใช้ด้วย เบสต่างกันทำให้เหล้าบ๊วยมีเอกลักษณ์เฉพาะ หรือแม้แต่ใช้เหล้าชนิดเดียวกัน รสชาติก็อาจแตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น เบสจากสาเก ด้วยสาเกในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันจากส่วนผสมอันได้แก่ น้ำ ข้าว และโคจิ อาทิ ใช้ข้าวสายพันธุ์ไหน ใช้น้ำแร่หรือน้ำจากภูเขา สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อรสชาติของเหล้าบ๊วยด้วยกันทั้งสิ้น

“ลูกค้าถามว่าเคยดื่มตัวนี้ที่ญี่ปุ่นแล้วชอบมาก มีตัวไหนที่รสชาติเหมือนกันบ้าง ผมตอบว่าอาจมีที่รสชาติใกล้เคียง แต่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เบสจากเหล้าที่ใช้ เพราะผลบ๊วยเองก็มีหลายสายพันธุ์ รวมทั้งระดับความสุก แม้ใช้กรรมวิธีการผลิตเดียวกัน ก็ให้รสชาติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

คุณกอล์ฟแนะนำผู้เริ่มดื่มว่า “วิธีดื่มเหล้าบ๊วยมีหลายแบบ เบสิกคือออนเดอะร็อก หรือดื่มแบบไม่ผสมเพื่อให้รู้รสชาติของเหล้า จากนั้นจะเติมโซดาหรือน้ำเปล่าก็ได้ ชาวญี่ปุ่นนิยมผสมกับชาหรือน้ำอุ่นดื่มในช่วงหน้าหนาว เหล้าบ๊วยยังเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มได้ตลอดปี แต่นิยมมากคือฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลฮานามิหรือเทศกาลชมซากุระ ที่แต่ละบ้านจะนำเหล้าที่หมักไว้มาดื่ม ก่อนที่ผลบ๊วยรุ่นใหม่จะออกแล้วนำมาหมักสำหรับปีต่อไป

กอล์ฟ-อิติสรณ์ นิติอภัยธรรม จากความรักสู่นักสะสมและผู้จัดจำหน่ายเหล้าบ๊วยมากที่สุดในไทย

“มือใหม่หัดดื่มหากมาที่ร้านเพียงเปิดเมนูก็เลือกรสชาติที่ต้องการได้ง่ายๆ เพราะมีข้อมูลทั้งแอลกอฮอล์ ความหวาน ความเปรี้ยว ตั้งแต่ระดับ 1-5 กำกับไว้ ล่าสุดเราจัดโปรโมชัน Umeshu Omakase บาร์เทนเดอร์จะเสิร์ฟเหล้าบ๊วย 6 ชนิดหมุนเวียนไปในแต่ละวัน เหมาะกับผู้เริ่มดื่มในราคาย่อมเยาอีกด้วย”

นัดรวมพลครั้งต่อไปต้องที่ Umeshuthai สุขุมวิท 45 แล้วล่ะ


Tag: Food in Biz, เหล้าบ๊วย

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed