‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

วันที่ 14 กันยายน 2566  1,264 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 278 เดือนกันยายน 2566

บนเก้าอี้สูงและเคาน์เตอร์ยาว ฝั่งหนึ่งคือเชฟกับวัตถุดิบที่เตรียมไว้แล้วอย่างดี อีกฝั่งคือคนกินที่นอกจากความหิวแล้วยังเต็มไปด้วยความเชื่อใจในฝีมือของคนฝั่งตรงข้ามที่จะค่อยๆ เผยไพ่ลับแห่งรสชาติออกมาตรงหน้า เป็นชั่วโมงที่เรียบง่ายแต่น่าตื่นเต้น นี่คือเสน่ห์ของ “โอมากาเสะ”

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

In Chef We Trust : เชฟว่าอย่างไร เราก็กินอย่างนั้น
เกริ่นก่อนว่าการกินแบบ “โอมากาเสะ” Omakase (お任せ) นั้นหมายถึงการฝากความไว้เนื้อเชื่อใจไว้กับเชฟ มื้อนี้เราจะได้กินอะไร มอบหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ให้เชฟเป็นคนตัดสินใจ (ส่วนเรารอกินแบบไม่ต้องคิดอะไรให้ปวดหัว) แม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่หลายคนก็หลงใหลในเสน่ห์ของโอมากาเสะเข้าเต็มเปา นอกจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาแล้วว่าดีที่สุด ยังมีบทสนทนาระหว่างมื้อ รวมถึงความน่าตื่นเต้นที่จะค่อยๆ เผยโฉมออกมาทีละคำผ่านประสบการณ์และความชำนาญของเชฟที่อยู่ตรงหน้า

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

ถึงอย่างนั้นโอมากาเสะก็ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่โบร่ำโบราณอย่างที่หลายคนคิด แผงขายซูชิเกิดขึ้นตามถนนหนทางในต้นยุคเอโดะ แต่ว่ากันว่าร้านโอมากาเสะเพิ่งเกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในญี่ปุ่นเริ่มกลับมาเฟื่องฟู คนเข้าร้านซูชิแบบไม่ได้มีความรู้เรื่องปลาโดยเฉพาะเจาะจงมากนัก การกินแบบโอมากาเสะจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น ไคเซกิ (Kaiseki) ต่างหากที่เก่าแก่จริง ไคเซกิเรียวริ เป็นอาหารชั้นสูงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปีและเชื่อมโยงกับพิธีชงชา วัตถุดิบที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุดในฤดูกาล มีความยุ่งยากซับซ้อนและใช้ความละเอียดอ่อนในการปรุง เสิร์ฟแบบฟูลคอร์ส มีการไล่เรียงลำดับรสชาติ รวมถึงจัดเสิร์ฟในภาชนะที่งดงามราวกับภาพทิวทัศน์

โอมากาเสะกับไคเซกิจึงเป็นอาหารคนละแบบ แต่โอมากาเสะอาจได้อิทธิพลจากไคเซกิก็เป็นไปได้

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

Fillets Omakase ว่าด้วยเรื่องปลา ข้าว และเชฟแรนดี้

“วันนี้ปลาเข้า”

นี่คือเหตุผลที่เราพุ่งตัวไปหา เชฟแรนดี้-ชัยชัช นพประภา ในทันที

ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิอีกฝั่งถนน เชฟและทีมกำลังง่วนอยู่กับการตรวจเช็กวัตถุดิบที่ส่งตรงจากญี่ปุ่น ทั้งปลา อุนิ ปลาหมึก วาซาบิสด ฯลฯ หากโอมากาเสะคือความเชื่อใจระหว่างเรากับเชฟ เชฟแรนดี้ก็ใช้หลักการเดียวกันกับซัพพลายเออร์ (ซึ่งเชฟใช้คำว่า “เพื่อน”) ที่คอยเสาะหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดส่งมาให้เช่นกัน

ที่นี่เราได้เห็นการทำงานอย่างเป็นระบบ ทูน่าธรรมชาติเนื้อสีแดงสวยค่อยๆ เผยโฉม ปลาหมึกที่ได้มาวันนี้ไซส์ใหญ่จนคนญี่ปุ่นก็แปลกใจ คินเมะไดตาใสเนื้อสวยที่เชฟบอกว่าตรงใจเพราะน้ำหนักดี “ปลาไม่ได้กินเยอะ ท้องว่าง ไม่อย่างนั้นจะมีของเสียในท้องมาก”

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

ปลาที่ได้มาจะถูกจัดการอย่างชำนาญ ทุกอย่างถูกลงบันทึก ก่อนนำไปบ่มตามวิถีเอโดะมาเอะซูชิ ส่วนของสดอย่างปลาหมึกจะถูกใช้ทันที…

กลับมาที่ Fillets ร้านโอมากาเสะย่านสี่พระยา เชฟแรนดี้ไม่เพียงน่าเคารพในเรื่องฝีมือ ประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นเชฟที่หาตัวจับยาก (มาก) เพราะมี Waiting List รอชิมฝีมืออยู่ 400 กว่าคิว

Fillets หลังสวน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อนในช่วงที่ร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังแบ่งบานจนถึงขีดสุด ด้วยประสบการณ์ด้านอาหารแบบเข้มข้นหาคนเทียบยาก เชฟบอกเราว่าตอนนั้น “คิดการใหญ่” อยากแนะนำการกินแบบโอมากาเสะให้คนไทยได้รู้จัก แต่มาในบรรยากาศที่อบอุ่น ผ่อนคลาย ไม่อึมครึมหรือขรึมจนเข้าไม่ถึง

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

“สิ่งที่ยากคือวัตถุดิบ ช่วงแรกบินญี่ปุ่น-ไทยเป็นว่าเล่น บินวันอังคารหิ้วกลับมาเองวันพุธ วันพฤหัส เราเริ่มขายที่หัวละ 8,000 บาท ถ้าเทียบเป็นสมัยนี้คงอยู่ที่หัวละ 20,000-30,000 บาท ซึ่งพอเราเปิดจองก็จองเต็มแบบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลย”

เชฟเล่าต่อว่าในยุคนั้นเชฟที่ทำร้านโอมากาเสะแบบสแตนด์อโลนมีเพียงไม่กี่คน นอกจากเชฟแรนดี้ก็มี เชฟรัน ร้าน In the Mood for Love เชฟบรรพต ร้าน Umi เป็นต้น “การทำโอมากาเสะยากนะ การที่ลูกค้าเชื่อใจคุณมาก ยอมจ่ายค่าคอร์สในราคาเกือบหนึ่งหมื่นบาท ทุกอย่างต้องออกมาเพอร์เฟ็กต์หรือใกล้เคียงคำว่าเพอร์เฟ็กต์ที่สุด ทั้งรสชาติ วิธีการเสิร์ฟ ต้องสังเกตทุกอย่าง ขนาดที่ว่าลูกค้าคนนี้ถนัดซ้ายหรือถนัดขวาเราก็ต้องรู้

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

“โอมากาเสะคือตามใจเชฟ ตัวเชฟจึงต้องเข้าใจอาหาร เข้าใจวัตถุดิบก่อน แต่ละฤดูกาลวัตถุดิบไม่เหมือนกัน ช่วงหลัง Global Warming เป็นปัญหามาก ปลาไม่วางไข่ ปลาไขมันน้อยก็มีผล เมนูของเราจะเปลี่ยนเกือบทุกวัน”

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

มีด : อุปกรณ์คู่กาย
หากเหล่าซามูไรมีดาบคู่ใจที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ เชฟก็มีมีดที่ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน “มีมีดหลายเล่มเพราะปลาแต่ละตัว ใช้จังหวะการลงมีดและช่วงยาวของการชักมีดแตกต่างกัน” มีดที่เชฟสะสมไว้ล้วนผ่านการสั่งทำพิเศษ บางเล่มอยู่คู่กายมานาน 15 ปี เก็บเงินซื้อตั้งแต่ยังมีเงินไม่มากนักและมีคุณค่าทางใจมหาศาล

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

“ตอนนี้ไม่ต้องบินไปซื้อปลาเองที่ญี่ปุ่นแล้ว แต่บินไปทักทายบางครั้ง หรือไม่ก็เอาของฝากไปให้” เชฟว่าอย่างนั้น “เดี๋ยวนี้เราสั่งของตอน 22.00 น. ซึ่งเป็นเที่ยงคืนของที่นั่น เขาก็รวบรวมออร์เดอร์เสร็จตอนตีสอง ตีห้าเขาส่งของมาไทย บ่ายสามโมงในวันรุ่งขึ้นเราก็ได้ของแล้ว เอาเป็นว่าเชฟที่ญี่ปุ่นใช้ปลาอย่างไร เราก็ใช้ปลาวันเดียวกับเขา”

“ถ้าเปรียบซาชิมิเป็นนม ซูชิก็คือชีส”
เชฟเปรียบเปรยว่าการทำซูชิก็เหมือนการนำนมมาทำเป็นชีสด้วยช่างฝีมือ ทั้งปลา ข้าว วาซาบิ โชยุ ล้วนแล้วแต่สำคัญ ข้าวของที่นี่จะรสจัดกว่าที่อื่นเพราะปรุงให้ถูกปากคนไทย แต่กลายเป็นว่าคนที่ปุ่นก็ชอบด้วย “เรื่องข้าวผมให้ 60 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิต้องได้ รสชาติต้องสมดุล เนื้อสัมผัสต้องดี เพราะเนื้อปลาที่เราเอจจิงนั้นค่อนข้างเซนซิทีฟ

“สิ่งที่สำคัญคือน้ำ น้ำบ้านเราแข็ง  (Hard Water) เรายังหาน้ำในเมืองไทยที่เหมาะกับข้าวไม่ได้ จึงต้องนำน้ำมาจากญี่ปุ่นจากแหล่งปลูกข้าวหรือไม่ก็ใกล้เคียงที่สุด ใช้ตั้งแต่การซาวข้าวเพราะข้าวสารมันแห้ง เมื่อโดนน้ำแล้วจะดูดน้ำเข้าไป และใช้ตอนหุงด้วย น้ำจึงมีผลกับทุกอย่างจริงๆ รวมถึงผลด้านราคา (หัวเราะ)”

ส่วนเรื่องลำดับการเสิร์ฟจะไล่เรียงแบบไหนนั้น เชฟบอกว่าเชฟแต่ละคนมีสไตล์ไม่เหมือนกัน “ผมเคารพความเป็น Traditional แต่ก็ปรับมาเป็นรูปแบบของตัวเองด้วย ส่วนตัวไม่ชอบกินซูชิติดกันหลายๆ คำ การเสิร์ฟที่ร้านจึงมีคั่นคอร์สด้วยพวก Appetizer เหมือนกับดูคอนเสิร์ต ถ้าไล่จากอ่อนไปเข้มก็เหมือนดูออร์เคสตรา แต่ของเราเป็นโอมากาเสะที่เหมือนร็อกโชว์ อย่างคำแรกของฤดูนี้เราเปิดด้วยชูโทโร่ ทุบตั้งแต่คำแรกเลย”

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

The Details

  • ภาชนะที่เชฟใช้ในร้านทั้งจาน ถ้วย แก้ว ล้วนเป็นงานฝีมือที่ได้จากศิลปินชาวไทย
  • ส่วนที่วางตะเกียบน่ารักๆ เป็นของที่เชฟชอปปิงกลับมาเวลาไปญี่ปุ่น และซื้อใหม่เรื่อยๆ เพราะลูกค้าขอกลับบ้าน
  • โต๊ะไม้ยาวที่บาร์เดิมทีเป็นไม้อัดธรรมดา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นไม้สักไทยลายสวยอายุกว่า 200 ปีที่ได้จากลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ แผ่นไม้ขนาด 6×9 เมตร วางที่ร้านได้พอดิบพอดีจนช่างไม้ที่มาส่งบอกกับเชฟว่าเหมือนไม้รอเจ้าของ
  • ส่วนเขียงกลางที่เชฟใช้หนักกว่า 100 กิโลกรัม เวลายกไปล้างแต่ละทีจึงสนุกมาก

‘เชฟแรนดี้ นพประภา’ เชฟผู้บุกเบิกวงการโอมากาเสะ และเรื่องเล่าหลังร้าน Fillets (สี่พระยา)

หลังจากคุยกันอยู่นาน เชฟทิ้งท้ายถึงเทรนด์ช่วงนี้ไว้ว่าเราอาจเห็นร้านที่หวือหวา อะไรที่เป็นทอง เป็นควันกำลังได้รับความสนใจ “ผมมองว่าวันหนึ่งคนจะกลับมามองที่รสชาติและเรื่องวัตถุดิบเป็นหลัก เพราะงานฝีมือที่เชฟแต่ละท่านทำมันเรียบง่าย เพียงแค่ปลา-ข้าว เท่านั้นเอง”


Tag: อาหารญี่ปุ่น, โอมากาเสะ

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed