มาทำท้องฟ้ากินได้กัน ‘วุ้นก้อนเมฆ’ ที่ปุยเมฆเราจะทำให้เป็นวุ้นมะพร้าวหอมๆ ส่วนตัวท้องฟ้าก็ไล่สีด้วยน้ำอัญชัญให้เป็นสีคราม สวยงามกินได้ให้เป็นของขวัญยิ่งประทับใจ   ส่วนผสมวุ้นกะทิก้อนเมฆ น้ำมะพร้าว 3/4 ถ้วย ผงวุ้น 1 1/2 ช้อนชา กะทิ 1/2 ถ้วย น้ำตาลทราย 2 1/2 ช้อนโต๊ะ เนื้อมะพร้าวอ่อนหั่นชิ้นเล็ก 1/2 ถ้วย ส่วนผสมวุ้นใส น้ำมะพร้าว 3 1/2 ถ้วย ผงวุ้น 2 1/2 ช้อนชา น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย น้ำอัญชัน 3 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ทำวุ้นกะทิก้อนเมฆโดยแช่ผงวุ้นในน้ำมะพร้าว 10 นาที ตั้งไฟให้เดือดจนผงวุ้นละลาย ใส่น้ำตาลทรายและกะทิ ต้มให้เดือด ใส่เนื้อมะพร้าวอ่อน คนให้เข้ากัน ตักหยอดลงในพิมพ์รูปก้อนเมฆ แช่เย็นไว้ให้แข็งตัว ทำวุ้นใสโดยแช่ผงวุ้นในน้ำมะพร้าว 10 นาที ตั้งไฟให้เดือดจนผงวุ้นละลาย ใส่น้ำตาลทราย ต้มให้เดือด แบ่งน้ำวุ้นใส 1 ถ้วย ใส่น้ำอัญชัน คนให้เข้ากัน พักไว้ เทน้ำวุ้นใสที่เหลือลงในพิมพ์ครึ่งหนึ่ง รอจนวุ้นเริ่มเซ็ตตัว ใส่วุ้นก้อนเมฆแล้วเทน้ำวุ้นใสที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ใส่วุ้นกะทิก้อนเมฆ รอจนเริ่มแข็งตัว ใส่น้ำวุ้นสีฟ้า พักไว้จนวุ้นแข็ง หรือแช่ตู้เย็นไว้ นำวุ้นออกจากพิมพ์ ตัดเป็นชิ้น จัดใส่จาน เสิร์ฟเย็นๆ

โปรไฟล์บนโซเชียลของป้าเจี๊ยบคือ happy learner & world traveler เขียนอย่างนี้เพราะมีปรัชญาชีวิตว่าต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ทุกวันจากสิ่งต่างๆ รอบตัวและรอบโลก    ในวาระครบ 71 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว ป้าเจี๊ยบถือโอกาสไปเรียนรู้ประเทศลำดับที่ 76 ของตัวเองแถวเอเชียกลางคือคาซัคสถาน (Kazakhstan) หนึ่งใน 15 ประเทศที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1991   นอกจากธรรมชาติที่สวยงามและอากาศบริสุทธิ์จนหายใจเต็มปอดอย่างสดชื่นทุกวันแล้ว อาหารการกินที่นี่ก็ธรรมชาติและเรียบง่ายสุดๆ ป้าเจี๊ยบได้กินผักสดผลไม้สดเต็มที่ทุกมื้อ และได้กินเนื้อม้าเป็นครั้งแรกในชีวิต   ป้าเจี๊ยบกินขนมปังและข้าวที่จัดไว้ให้น้อยมาก แต่ก็มีโอกาสเข้าครัวของบ้านชาวคาซัค ไปดูเจ้าของบ้านทำขนมปังท้องถิ่น Baursaki ใช้วิธีทอดเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเพื่อนร่วมเดินทางลงความเห็นว่าเหมือนปาท่องโก๋ เสียดายที่ไม่มีนมข้นหวานมาให้จิ้ม...ฮา!   ขนมปังท้องถิ่นแบบอบเรียกว่านาน (Nan) รูปร่างคล้ายจานบิน ลวดลายสวยงาม มีรอยบุ๋มตรงกลาง จะเหลือกินทุกมื้อ จนกระทั่งมาเจอร้านหนึ่งมีเมนูคล้ายโรตีกรอบเพิ่มให้อีกอย่าง ป้าเจี๊ยบมัวแต่กินเมนูสารพัดผัก พอคิดจะหยิบมาชิม แป้งทอดคล้ายโรตีกรอบเหลือเพียงชิ้นเล็กๆ แค่คำเดียว   แป้งทอดนี้อร่อยค่ะ เคี้ยวกรอบๆ รสเค็มนิดๆ หวานหน่อยๆ หลังจากสืบค้นข้อมูลแล้วก็พบว่าเป็นของหวานประจำถิ่นในบรรดาประเทศที่มีชื่อท้ายว่า “สถาน” ทั้งหลาย ภาษาถิ่นเรียกว่าคุชทิลิ (Kush Tili) แปลว่าลิ้นนก (Bird Tongue) แต่หลายประเทศในยุโรปเรียกว่าปีกเทวดา (Angel Wings) เพราะขึ้นรูปขนมลักษณะแตกต่างออกไป ป้าเจี๊ยบว่าวิธีทำใกล้เคียงกับกรอบเค็มของป้าเจี๊ยบเลย แต่ขั้นตอนน้อยกว่าเยอะ   ตามที่ป้าเจี๊ยบมีธรรมเนียมว่า กลับจากประเทศไหนสมาชิกครอบครัวจะได้กินอาหารประเทศนั้น ของหวานสำหรับเมนูคาซัคไม่หนี “ลิ้นนก-คุชทิลิ” แน่นอน   ป้าเจี๊ยบตอกไข่ไก่เบอร์สาม 2 ฟองลงในถ้วย ตามด้วยนมรสจืด 20 กรัม และเกลือป่น 1/2 ช้อนชา แล้วใช้ช้อนคนให้เข้ากัน วางพักไว้ จากนั้นชั่งแป้งสาลีอเนกประสงค์ 250 กรัมมาใส่ไว้ในชาม แหวกแป้งเป็นบ่อตรงกลาง เทส่วนผสมของเหลวที่ทำไว้ลงไป ใช้ส้อมค่อยๆ คนผสมแป้งให้เข้ากับของเหลวจนไม่เห็นฝุ่นแป้ง นำออกมานวดบนเคาน์เตอร์จนแป้งโดเนียน ไม่ติดมือ รวบเป็นก้อนกลมใส่ลงในกล่องปิดฝา พักแป้งโดไว้ครึ่งชั่วโมง   จากนั้นนำแป้งโดออกมาวางบนเคาน์เตอร์ที่โรยแป้งสาลีอเนกประสงค์บางๆ ไว้ ใช้ลูกกลิ้งแผ่แป้งเป็นแผ่นบางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ใช้มีดตัดแผ่นแป้งเป็นเส้นๆ ขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตรโดยประมาณ แล้วม้วนแต่ละเส้นแบบบิดเข้าเป็นวงกลมคล้ายดอกกุหลาบหลวมๆ   นำแป้งที่ม้วนไว้ไปทอดค่ะ ป้าเจี๊ยบทอดทีละดอก ใช้กระทะใบเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ใส่น้ำมันพืชระดับสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ทอดไฟกลางค่อนข้างอ่อนจนแป้งสุกทั่วกันจึงตักออกมาวางบนแผ่นซับน้ำมัน พักไว้จนเย็นสนิทจึงใส่กล่องปิดฝา   หลังอาหารป้าเจี๊ยบเตรียมชาสมุนไพรคาซัค โดยใช้เครื่องชงกาแฟดริป ส่งกลิ่นหอมอบอวลทั่วบ้านจนทุกคนถามว่าป้าเจี๊ยบทำอะไรห้อมหอมมม อิอิ   ชาสมุนไพรคาซัคหอมยืนหนึ่ง เสิร์ฟพร้อมคุชทิลิโปรยหน้าด้วยน้ำตาลไอซิง พรึ่บเดียวเกลี้ยง!

ขนมถ้วยสูตรนี้ตัวขนมได้แรงบันดาลใจจากเปียกปูน โดยใช้ผงถ่าน หอมกลมกล่อมด้วยน้ำปูนใส พร้อมกับหน้ากะทิหอมมันในรูปแบบขนมถ้วย ส่วนผสมเปียกปูน                     แป้งข้าวเจ้า 25 กรัม      แป้งเท้ายายม่อม 1 1/2 ช้อนโต๊ะ แป้งถั่วเขียว 1 1/2 ช้อนชา  น้ำใบเตยเข้มข้น 3 ช้อนโต๊ะ            น้ำตาลปี๊บ 70 กรัม                  น้ำปูนใส 115 กรัม                  ผงถ่าน 1 ช้อนชา หน้ากะทิ แป้งข้าวเจ้า 12 กรัม      กะทิ 165 กรัม เกลือ 1/4 + 1/8 ช้อนชา  วิธีทำ    ตั้งลังถึงใช้ความร้อนสูง นึ่งถ้วยตะไล (13 ถ้วย) ให้ร้อนเป็นเวลา 2 นาที ทำตัวขนมโดยผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม แป้งถั่วเขียว และผงถ่าน กับน้ำใบเตยและน้ำปูนใสเล็กน้อย นวดส่วนผสมเป็นเวลา 3 นาที ใส่น้ำตาลปี๊บลงไป นวดต่อให้น้ำตาลละลายดี ใส่น้ำปูนใสที่เหลือ คนให้ละลายเข้ากันแล้วกรอง ตักส่วนผสมใส่ถ้วยตะไล 3/4 ของถ้วย ปิดฝา นึ่งนาน 14 นาที ทำหน้าขนมโดยผสมแป้งข้าวเจ้า เกลือ และกะทิเข้าด้วยกัน หยอดหน้าขนม นึ่งต่ออีก 5 นาที พักให้เย็นลง แซะออกจากถ้วย จัดใส่จาน

วุ้นสังขยาหวานฉ่ำลิ้น เสิร์ฟในลูกฟักทองแบบสวยงาม กินแล้วสดชื่น   ส่วนผสม ฟักทองญี่ปุ่นขนาดกลาง 1 ผล เนื้อฟักทองนึ่งสุกบด 3/4 ถ้วย ไข่ไก่เบอร์หนึ่ง 1 ฟอง น้ำตาลปี๊บ 1/2 ถ้วย เกลือป่น 1/4 ช้อนชา กะทิ 1/2 ถ้วย ผงวุ้น 1 1/2 ช้อนชา น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย วิธีทำ นึ่งฟักทองทั้งลูกให้สุก ตักเอาเนื้อออกมาแยกเมล็ด แล้วบดเนื้อให้ละเอียด ผสมไข่ไก่ น้ำตาลปี๊บ เกลือ และกะทิ ผสมให้น้ำตาลละลายหมด ผสมเนื้อฟักทองนึ่งบดและเนื้อฟักทองที่ตักจากผลให้เข้ากัน   ใส่ผงวุ้นลงในน้ำเปล่า ต้มให้ผงวุ้นละลายหมด ใส่ส่วนผสมสังขยาฟักทอง คนให้เข้ากัน เทลงในผลฟักทองนึ่ง พักไว้ให้แข็งตัว ตัดเป็นชิ้นเสิร์ฟ

มาช้าแต่มานะ เมนูช็อกโกแลตดูไบ ที่ว่ากันว่าอร่อยมากแล้วทำไมยากด้วย เราใช้ทั้งดาร์กช็อกและไวต์ช็อกโกแลต สอดไส้เนย ซอสถั่วพิสตาชิโอ และเส้นคูนาฟ่า กินเล่นเพลินจนลืมนับแคล!    ส่วนผสม ถั่วพิสตาชิโออบแกะเปลือก 1 ถ้วย ไวต์ช็อกโกแลตละลาย 1/2 ถ้วย น้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ เนยสดเค็ม 1/4 ถ้วย เส้นคูนาฟ่า 2 ถ้วย ช็อกโกแลตชนิดกระดุม 2 ถ้วย ถั่วพิสตาชิโออบสับ 1-2 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ทำซอสพิสตาชิโอโดยใส่ถั่วพิสตาชิโออบ ไวต์ช็อกโกแลต และน้ำมันมะพร้าวลงในโถบดสับ ปั่นเข้าด้วยกันให้ละเอียดเนียน ทำไส้โดยใส่เนยสดลงในกระทะ พอเนยละลาย ใส่เส้นคูนาฟ่า ผัดให้เข้ากับเนย ใส่ซอสพิสตาชิโอ ผัดคลุกให้เข้ากัน พักไว้ ละลายช็อกโกแลตบนหม้อน้ำร้อน ตักใส่พิมพ์ซิลิโคน กรอกให้ทั่วพิมพ์ เทช็อกโกแลตส่วนเกินออก พักให้แข็งตัว ใส่ไส้คูนาฟ่าผัด กดเบาๆ ให้เต็มพิมพ์ ปิดทับด้วยช็อกโกแลตละลาย ปาดให้เรียบ โรยถั่วพิสตาชิโอสับ พักไว้ให้แข็งตัว แกะออกจากพิมพ์ จัดใส่จานเสิร์ฟ

ส่วนผสมเค้กชิฟฟอน (สำหรับ 4 ที่) แป้งเค้ก 90 กรัม | ผงฟู 1/2 ช้อนชา | น้ำลำไยสีทอง 50 กรัม | น้ำมันพืช 50 กรัม | ไข่แดง 3 ฟอง | กลิ่นวานิลลา 1/2 ช้อนชา | เนื้อลำไยแห้ง (แช่น้ำจนนุ่ม) 3/4 ถ้วย | ไข่ขาว 3 ฟอง | ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ช้อนชา   ส่วนผสมเจลลีน้ำลำไย น้ำเย็น 600 มิลลิลิตร | ผงวุ้น 3 ช้อนชา | ผงเจลาติน 2 ช้อนชา | เนื้อลำไยสด 1 ถ้วย   วิธีทำ ผสมน้ำลำไยสีทอง น้ำมันพืช ไข่แดง และกลิ่นวานิลลาให้เข้ากัน จากนั้นร่อนแป้งเค้กกับผงฟู คนผสมให้เข้ากันจนเนื้อเนียน ตีไข่ขาวกับครีมออฟทาร์ทาร์จนขึ้นฟูและตั้งยอดปานกลางผสมกับแป้งเค้กที่เตรียมไว้ ใส่เนื้อลำไย ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน เทใส่พิมพ์สี่เหลี่ยมที่รองด้วยกระดาษไข นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 15-18 นาทีจนสุก พักไว้ให้เย็นแล้วตัดด้วยพิมพ์วงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร เตรียมไว้ ทำเจลลีน้ำลำไยโดยผสมผงเจลาติน ผงวุ้น และน้ำเปล่าให้เข้ากัน พักไว้ 10 นาที จากนั้นต้มให้เดือดปิดไฟ พักให้หายร้อน วางเนื้อเค้กใส่แก้วเสิร์ฟ ราดเจลลีน้ำลำไย แช่ในตู้เย็น 30 นาทีจนเซ็ตตัว ตกแต่งหน้าด้วยเนื้อลำไยสดให้สวยงาม

สาเกเชื่อม ขนมเนื้อฉ่ำหวานเนียนที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว นำมาผสมกับครีมอัลมอนด์ทำเป็นทาร์ตสาเกเชื่อม ได้ความหอมจากผงอัลมอนด์และเนื้อสัมผัสหนึบๆ จากสาเกเชื่อม   ส่วนผสมแป้งทาร์ต แป้งสาลีอเนกประสงค์ 200 กรัม | น้ำตาลไอซิง 80 กรัม | เกลือ 2 กรัม | เนยจืด 135 กรัม | ไข่ไก่ 20 กรัม | ผงอัลมอนด์ 80 กรัม   วิธีทำ ผสมทั้งหมดให้เข้ากัน คลุมด้วยพลาสติกแรป พักไว้ในตู้เย็นประมาณ 30 นาที จากนั้นรีดเป็นแผ่นบางประมาณ 3 มิลลิเมตร กรุลงพิมพ์ทาร์ตขนาด 8 นิ้ว ตัดขอบให้สวยงาม นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที จนสุกเหลือง พักไว้ให้หายร้อน ส่วนผสมไส้อัลมอนด์ น้ำตาลไอซิง 100 กรัม | เนยจืด (นุ่ม) 100 กรัม | เกลือป่น 1/4 ช้อนชา | แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ | ผงอัลมอนด์ 100 กรัม | ไข่ไก่ 1 ฟอง | ไข่ขาว 1 ฟอง | เนื้อสาเกเชื่อมหั่นเต๋า 1/3 ถ้วย   วิธีทำ ผสมทั้งหมดให้เข้ากัน เทใส่แป้งทาร์ต (ใส่เนื้อสาเกเชื่อมหั่นเต๋า) นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที หรือจนสุก ตกแต่งด้วยเนื้อสาเกเชื่อมบนหน้าให้สวยงาม

ขนมหวานอันเลื่องชื่อที่เปลี่ยนจากกาแฟเป็นน้ำใบเตย สไตล์ไทยโมเดิร์น ใช้เลดี้ฟิงเกอร์ชุบในน้ำใบเตยกับน้ำมะพร้าวอ่อน สลับชั้นกับครีมมาสคาร์โปเนกะทิเนื้อนุ่มฟูและสังขยาใบเตย ตกแต่งด้วยผงใบเตยดูสวยงาม   ส่วนผสมและวิธีทำครีมชีสมาสคาร์โปเนกะทิ ชีสมาสคาร์โปเน 1 1/2  ถ้วย | วิปครีม 2 ถ้วย | กะทิ 1/4 ถ้วย | ไข่แดง 6 ฟอง | น้ำตาลทราย 1 ถ้วย | กลิ่นวานิลลา 1/2 ช้อนชา ตีไข่แดงกับน้ำตาลทรายบนอ่างน้ำร้อนจนขึ้นฟู ยกออก ใส่ชีสมาสคาร์โปเน กะทิ กลิ่นวานิลลา และวิปครีม ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน ส่วนผสมและวิธีทำเลดี้ฟิงเกอร์ ไข่แดง 6 ฟอง | น้ำตาลทราย (1) 75 กรัม | แป้งเค้ก 60 กรัม | ไข่ขาว 6 ฟอง | น้ำตาลทราย (2) 50 กรัม ตีไข่แดงกับน้ำตาลทราย (1) จนขึ้นฟู พักไว้ จากนั้นตีไข่ขาวกับน้ำตาลทราย (2) จนตั้งยอดอ่อน นำไปผสมกับไข่แดง ตะล่อมให้ส่วนผสมเข้ากัน ค่อยๆ ร่อนแป้งเค้กลงไปแล้วตะล่อมให้เข้ากันอีกครั้ง บีบใส่ถาดอบให้เป็นชิ้นยาวต่อกัน นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส นาน 8 นาที ส่วนผสมและวิธีทำน้ำใบเตย น้ำใบเตย 1 ถ้วย | น้ำมะพร้าว 1 ถ้วย | น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำใบเตย น้ำมะพร้าว และน้ำตาลทรายให้เข้ากัน จากนั้นนำเลดี้ฟิงเกอร์ลงแช่ประมาณ 30 วินาที ใส่พิมพ์เตรียมไว้ ส่วนผสมและวิธีทำไส้ครีมสังขยาใบเตย กะทิ 300 กรัม | นมรสจืด 150 กรัม | น้ำใบเตยเข้มข้น 50 กรัม | น้ำตาลทราย 80 กรัม | ไข่แดง 4 ฟอง | แป้งข้าวโพด 40 กรัม | กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา | เจลาติน 2 แผ่น (แช่น้ำเย็น) ใส่ส่วนผสมทั้งหมดผสมให้เข้ากัน นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนส่วนผสมข้น ปิดไฟ แล้วกรองผ่านกระชอนจนเนื้อเนียน คลุมด้วยพลาสติกแรปให้แนบหน้า พักไว้ให้หายร้อน วิธีประกอบเค้ก วางเลดี้ฟิงเกอร์ลงในพิมพ์สี่เหลี่ยมถอดก้น ขนาด 8×8 นิ้ว ราดครีมมาสคาร์โปเนกะทิ ใส่ครีมสังขยาใบเตย แล้วปิดด้วยเลดี้ฟิงเกอร์ให้ทั่ว ทำซ้ำให้ได้ 3 ชั้น ตกแต่งด้วยครีมมาสคาร์โปเน และโรยผงใบเตยสด ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมให้สวยงาม

คงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จักโมจิ ขนมญี่ปุ่นที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวซึ่งมีรูปแบบต่างๆ โมจิจะจัดว่าเป็นขนมประจำชาติของญี่ปุ่นก็ว่าได้ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และเป็นขนมสำคัญในงานพิธีต่างๆ ตลอดมา   ขนมที่ทำด้วยโมจิโกะ (Mochiko) หรือแป้งข้าวเหนียวของญี่ปุ่นนี้แพร่หลายไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อย่างประเทศจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และในประเทศไทยที่โมจิได้กลายเป็นขนมแป้งจี่ แป้งข้าวเหนียวผสมมะพร้าว น้ำตาล ไข่ไก่ แล้วจี่บนกระทะเป็นชิ้นกลมแบนเล็กๆ   ฉบับนี้เราจะทำโมจิเค้กซึ่งนิยมไปทั่วโลก ต้นกำเนิดอยู่ที่ฮาวาย จากคนญี่ปุ่นซึ่งไปทำงานในไร่สับปะรดคิดทำขึ้น คนฮาวายมักเรียกโมจิเค้กว่า “Hawaiian Butter Mochi” เค้กนี้ทำไม่ยาก ส่วนผสมสำคัญมีกะทิ นมข้นจืด แป้ง และส่วนผสมอื่นๆ ตีให้เข้ากันด้วยตะกร้อมือ ไม่ต้องตีให้ฟู ปัจจุบันโมจิเค้กมาในหลากหลายรูปแบบ และส่วนมากเรียกชื่ออื่นจนไม่มีคำว่าโมจิ   โมจิเค้กที่ทำนี้มีหลากหลายรสชาติซึ่งส่วนผสมจะแตกต่างกัน แต่เนื้อสัมผัสจะเหมือนกันคือเหนียวหนึบมีรสหวานอ่อนๆ และรสชาติก็แตกต่างกันไปตามส่วนผสมที่ใส่ เช่น โมจิเค้กฟักทอง โมจิเค้กชาเขียว และโมจิเค้กช็อกโกแลต ส่วนผสม Pumpkin Mochi Cake (โมจิเค้กฟักทอง) แป้งโมจิโกะ (Mochiko) 455 กรัม ผงอบเชย 1 ช้อนชา ผงจันทน์เทศ (Nutmeg) 1/2 ช้อนชา ผงขิง 1/2 ช้อนชา ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ หยิบมือ ไข่ เบอร์ 0 3 ฟอง น้ำตาลทรายละเอียด 300 กรัม ฟักทองบด 255 กรัม นมข้นจืด 340 กรัม กะทิ 340 กรัม เนยละลาย 57 กรัม วานิลลา 2 ช้อนชา งาดำ เมล็ดฟักทอง สำหรับโรยหน้า อุปกรณ์ ถาดขนาด 9 × 13 นิ้ว ปูกระดาษไขและทาเนยให้ทั่ว   วิธีทำ ผสมแป้ง ผงอบเชย ผงจันทน์เทศ ผงฟู ผงขิง และเกลือ พักไว้ ในอ่างผสมใส่ไข่ (ตีให้เข้ากันก่อน) น้ำตาลทราย เนื้อฟักทองบด นมข้นจืด และวานิลลา ตีให้เข้ากันดีและเป็นสีเหลือง ใส่ส่วนผสมแป้งและตีให้เข้ากัน เติมกะทิและเนยละลาย ตีให้เข้ากัน เทใส่ถาดที่เตรียมไว้ โรยงาและเมล็ดฟักทอง นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที นำออกจากเตาอบ พักไว้บนตะแกรงจนเย็น (1 ชั่วโมง) เอาออกจากถาดและตัดเป็นชิ้น Note : จะใส่เนื้อมะพร้าวอ่อนหั่นเป็นเส้น สับปะรดกระป๋องสับละเอียดลงในส่วนผสมก่อนเทใส่ถาดก็ได้ ส่วนผสม Matcha Mochi Cake (โมจิเค้กชาเขียว) แป้งโมจิโกะ (Mochiko) 130 กรัม ผงชาเขียว 15 กรัม น้ำตาลทรายละเอียด 100 กรัม ผงฟู 1 ช้อนชา เกลือ หยิบมือ ไข่ เบอร์ 0 1 ฟอง กะทิ 250 กรัม เนยละลาย 22 กรัม อุปกรณ์ ถาดขนาด 8 × 8 นิ้ว ปูกระดาษไขทาเนยให้ทั่ว   วิธีทำ  ผสมแป้ง ผงชาเขียว น้ำตาลทราย ผงฟู และเกลือให้เข้ากัน ใส่ไข่ (ตีให้เข้ากันก่อน) เติมกะทิและเนยละลาย คนให้เข้ากัน เทใส่ถาด นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส นาน 20 นาที นำออกจากเตาอบ พักไว้บนตะแกรงจนเย็น เอาออกจากถาดและตัดเป็นชิ้น Note : ถ้าจะให้เนื้อเค้กสีเขียวสวยต้องใช้อุจิมัตฉะ (Uji Matcha) ส่วนผสม Chocolate Mochi Cake (โมจิเค้กช็อกโกแลต) แป้งโมจิโกะ (Mochiko) 130 กรัม ผงโกโก้ 60 กรัม น้ำตาลทรายละเอียด 100 กรัม ผงฟู 1 ช้อนชา เกลือ หยิบมือ ไข่ เบอร์ 0 2 ฟอง กะทิ 250 กรัม น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ วานิลลา 1 ช้อนชา อุปกรณ์ ถาดขนาด 8 × 8 นิ้ว ปูกระดาษไขทาเนยให้ทั่ว   วิธีทำ ผสมแป้ง ผงโกโก้ น้ำตาล ผงฟู และเกลือ คนให้เข้ากัน พักไว้ ในอ่างผสมอีกใบตีไข่ให้เข้ากัน เติมกะทิ น้ำมันพืช และวานิลลา ตีจนเป็นฟอง ใส่ส่วนผสมแป้ง ตีให้เข้ากันดี เทใส่ถาด นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส นาน 35-40 นาที นำออกจากเตาอบ พักไว้บนตะแกรงจนเย็น เอาออกจากถาดและตัดเป็นชิ้น Note : จะใส่เนื้อมะพร้าวอ่อนหั่นเส้นในส่วนผสมก่อนอบก็ได้

ส่วนผสม (สำหรับ 3-4 ที่) แป้งเค้ก 70 กรัม น้ำลูกตาลสด 30 กรัม กะทิ 20 กรัม น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ วิปปิงครีม 45 กรัม ไข่ขาว 3 ฟอง ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ช้อนชา วิปครีม 2 ถ้วย เนื้อลูกตาลสดหั่นเส้น 1 ถ้วย วิธีทำ ผสมน้ำลูกตาล กะทิ น้ำมันพืช และวิปปิงครีมให้เข้ากัน จากนั้นร่อนแป้งใส่ คนส่วนผสมให้เข้ากัน ตีไข่ขาวกับครีมออฟทาร์ทาร์จนขึ้นฟู ตักใส่แป้งเค้กที่เตรียมไว้ ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน เทใส่ถาดขนาด 37×29 เซนติเมตร นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส นาน 10-15 นาทีจนสุก พักไว้ให้เย็น ปาดวิปครีมหนาประมาณ 2 เซนติเมตรให้ทั่วเนื้อเค้ก วางเนื้อลูกตาลตรงกลาง ม้วนเนื้อเค้กพร้อมกับกระดาษไข จัดทรงให้สวยงาม พักไว้ในตู้เย็น 1-2 ชั่วโมงจนเซ็ตตัว ตัดเสิร์ฟขนาดตามต้องการ

แตงไทย ผลไม้ไทยที่มีกลิ่นหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ นำมาทำเป็นเค้กสไตล์มินิมอล ไส้ตรงกลางเป็นแยมแตงไทยผสมกับเนื้อแตงไทยสด ตกแต่งด้วยครีมกะทิดูเรียบง่ายและสวยงาม   ส่วนผสมสำหรับเค้ก (สำหรับ 3 ที่) ไข่แดง 3 ฟอง | น้ำเมลอน 50 กรัม | น้ำตาลทราย (1) 50 กรัม | น้ำมันรำข้าว 50 กรัม | แป้งเค้ก 90 กรัม |  ผงฟู 1/2 ช้อนชา | เกลือ 1/4 ช้อนชา | กลิ่นวานิลลา 1/2 ช้อนชา | ไข่ขาว 3 ฟอง | น้ำตาลทราย (2) 50 กรัม | ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ช้อนชา | วิปครีมและเนื้อแตงไทยสกูปสำหรับตกแต่งเล็กน้อย   วิธีทำ ผสมไข่แดงกับน้ำตาลทราย (1) น้ำเมลอน เกลือ กลิ่นวานิลลา และน้ำมันรำข้าวให้เข้ากันจนเนื้อเนียน ใส่แป้งเค้กและผงฟู คนส่วนผสมให้เข้ากันอีกรอบพักไว้ ตีไข่ขาวกับน้ำตาลทราย (2) และครีมออฟทาร์ทาร์ ตีส่วนผสมจนขึ้นฟูและตั้งยอดปานกลาง นำไข่ขาวผสมกับแป้งเค้กที่เตรียมไว้ ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน เทใส่พิมพ์เค้ก 1/2 ปอนด์ จำนวน 2 พิมพ์ นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที หรือจนเค้กสุก ส่วนผสมและวิธีทำแยมแตงไทย เนื้อแตงไทย 2 ถ้วย | น้ำตาลทราย 1 ถ้วย | กะทิ 1/4 ถ้วย | แป้งกวนไส้ (Modified Starch) 1 ช้อนโต๊ะ | เนื้อแตงไทยหั่นเต๋า 1 ถ้วย ผสมทั้งหมดให้เข้ากันลงในหม้อ (ยกเว้นเนื้อแตงไทยหั่นเต๋า) นำขึ้นตั้งไฟกวนส่วนผสมจนข้น พักไว้ให้เย็นแล้วปั่นให้เนื้อเนียน ใส่เนื้อแตงไทยหั่นเต๋าลงคลุกให้เข้ากัน วิธีตกแต่ง วางเค้กลงบนแท่นหมุน ใส่แยมแตงไทยตรงกลาง ปิดด้วยเนื้อเค้กอีกชิ้น จากนั้นตกแต่งด้วยวิปครีมให้ทั่วทั้งชิ้น วางเนื้อแตงไทยสกูปให้สวยงาม

เมนูขนมไทยทำไม่ยากที่เปลี่ยนจากหน้ากะทิเป็นหน้าสังขยาใบเตยหอมๆ รสชาติเข้มข้นละมุนละไม ได้ทั้งความกรอบและความนุ่มนวลในคำเดียว   ส่วนผสมแป้งขนมครก แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1/4 ถ้วย น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ไข่ไก่ 1 ฟอง กะทิ 3/4  ถ้วย น้ำปูนใส 3/4 ถ้วย ส่วนผสมสังขยาใบเตย กะทิ 1 ถ้วย น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย แป้งข้าวโพด 3 ช้อนโต๊ะ น้ำใบเตยข้นๆ 1/2 ถ้วย เกลือป่น 1/4 ช้อนชา วิธีทำ ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี น้ำตาลทราย ไข่ไก่ และน้ำปูนใส คนให้เข้ากัน ใส่กะทิ คนให้เข้ากัน พักไว้ ตั้งเตาทาโกะยากิให้ร้อน ทาน้ำมันบางๆ ตักแป้งหยอดให้บางๆ รอจนสุกกรอบ ตักใส่จานพักไว้ ทำสังขยาใบเตยโดยผสมกะทิ น้ำตาลทราย และแป้งข้าวโพด คนให้เข้ากัน ใส่น้ำใบเตยและเกลือ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ตั้งเตาใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน คนไปเรื่อยๆ จนสังขยาสุกข้น ยกลง จัดแป้งขนมครกใส่จาน ใส่ไส้สังขยา เสิร์ฟ  

น่ารักอร่อยคูณ 2 เมื่อแป้งแพนเค้กนุ่มๆ มาจับคู่กับโมจิเนื้อหนึบหนับ ท็อปด้วยวิปครีมและผลไม้สดหรือฝอยทอง ถูกใจคนรักของหวาน   ส่วนผสมแป้งโมจิ แป้งข้าวโพด 1 1/2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วย นมสด 2/3 ถ้วย น้ำตาลทราย 2 1/2 ช้อนโต๊ะ เนยสดเค็ม 1/3 ถ้วย ส่วนผสมแป้งแพนเค้ก แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ถ้วย น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วย ไข่ไก่ 2 ฟอง ผงฟู 1 1/2 ช้อนชา นมสด 1/3 ถ้วย น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น 1/8 ช้อนชา ฝอยทอง ลูกเกด วิปครีม และผลไม้ตามชอบ วิธีทำ เตรียมแป้งโมจิโดยผสมแป้งข้าวโพด แป้งข้าวเหนียว นมสด และน้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน กรองใส่ชาม นำเข้าไมโครเวฟ 1-2 นาทีจนแป้งสุก ใส่เนยสดแล้วนวดให้แป้งนุ่ม พักไว้ ทำแป้งแพนเค้กโดยผสมแป้งสาลี น้ำตาลทราย และผงฟู ใส่เกลือ คนให้เข้ากัน ใส่นมสดและไข่ไก่ คนให้เข้ากัน เติมน้ำมัน คนให้เข้ากัน ตั้งกระทะพอร้อน ตักส่วนผสมแป้งแพนเค้กหยอดลงในกระทะ พอแป้งเริ่มสุกใส่แป้งโมจิ ใส่ฝอยทอง โรยลูกเกด พับครึ่ง จัดใส่จาน ทำหน้าครีมผลไม้โดยหยอดแป้งแพนเค้กลงในกระทะ พอสุกใส่แป้งโมจิ แล้วใส่วิปครีม แต่งด้วยผลไม้ตามชอบ

เมนูพุดดิงเพื่อสุขภาพเปลี่ยนจากเมล็ดเจีย (Chia Seed) เป็นเมล็ดแมงลักไทยจากสวน นำมาผสมกับกาแฟ กรีกโยเกิร์ต และครีม ท็อปด้วยชีสมาสคาร์โปเนผสมกับน้ำแก้วมังกรสีแดง เป็นเมนูทีรามิสุพุดดิงที่เข้มข้นและสวยงาม ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เมล็ดแมงลักไทย 1/3 ถ้วย ผงกาแฟสำเร็จรูป (Instant Coffee) 1 1/2 ช้อนโต๊ะ กรีกโยเกิร์ต 1 ถ้วย วิปปิงครีม 1 1/2  ถ้วย น้ำผึ้งป่า 3 ช้อนโต๊ะ น้ำแก้วมังกรสีแดง 1/3 ถ้วย ชีสมาสคาร์โปเน 1 ถ้วย ลูกฟิกสด 1-2 ผล วิธีทำ ปั่นเมล็ดแมงลักกับผงกาแฟสำเร็จรูป กรีกโยเกิร์ต และวิปปิงครีมให้เข้ากัน ใส่น้ำผึ้งป่า ปั่นต่อเล็กน้อย ชิมรสตามชอบ ตักใส่แก้วเสิร์ฟ พักไว้ในตู้เย็น 1 คืน (รอให้เมล็ดแมงลักพองขึ้น) ผสมชีสมาสคาร์โปเนกับน้ำแก้วมังกรให้เข้ากัน ตักใส่แก้วพุดดิงเมล็ดแมงลักที่เตรียมไว้ ตกแต่งด้วยลูกฟิกสดและดอกไม้กินได้ให้สวยงาม

เลมอนหรือมะนาวเหลืองที่มีผิวหนาสีเหลือง กลิ่นหอม รสเปรี้ยวหอมละมุน ใช้ทำได้ทั้งของหวานและอาหารคาว ถ้าเป็นขนมมักจะขูดผิวลงไปในเนื้อขนมด้วยเพื่อให้มีกลิ่นหอม และใส่น้ำเลมอนเพื่อให้มีรสเปรี้ยว   ขนมที่ใช้เลมอนมีหลากหลาย เช่น คุกกี้ชีสเค้ก เค้กเนื้อหนักอย่าง Pound Cake เค้กเนื้อเบา เช่น เจนัวส์ (Genoise Cake) เค้กสปันจ์ (Sponge Cake) และอื่นๆ อีกมากมาย ฉบับนี้เราจะทำ Lemon Cream Cake เค้กที่ผสมผสานกันของชีสเค้กรสมะนาวและเค้กมะนาวซึ่งอยู่ในพิมพ์เดียวกัน   ขนมนี้จะได้เนื้อสัมผัสนุ่มๆ ของครีมชีสมะนาว และเค้กมะนาวที่มีกลิ่นหอมเลมอนในชิ้นเดียวกัน วิธีทำต้องแยกกันทำ 2 ส่วน แล้วเทใส่ในพิมพ์เดียวกัน เมื่ออบเสร็จสักครู่หน้าขนมตรงกลางจะยุบลง และต้องแช่เย็นหลายชั่วโมงก่อนตัด เลมอนครีมเค้กนี้มีขายทั่วไปในยุโรปและอเมริกา   เค้กนี้ทำไม่ยาก คนที่ชอบกลิ่นหอมสดชื่นและรสเปรี้ยวละมุนๆ ของเลมอนน่าจะลองทำดู   Lemon Cream Cake ส่วนผสมครีมชีส ครีมชีสอุณหภูมิห้อง 227 กรัม น้ำตาลไอซิง 170 กรัม ไข่ไก่ เบอร์ 0 1 ฟอง เนยละลาย 3 ช้อนโต๊ะ วานิลลา 1/2 ช้อนชา ผิวเลมอน 1 ช้อนชา น้ำเลมอน 2 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตีครีมชีสจนเนื้อเนียน เติมน้ำตาลไอซิงและตีต่อจนเข้ากันดี ใส่ไข่และตีให้เข้ากัน เติมเนยละลาย วานิลลา ผิวเลมอนและน้ำเลมอน คนทุกอย่างพอเข้ากัน พักไว้ ส่วนผสมเค้ก แป้งสาลีอเนกประสงค์ 80 กรัม น้ำตาลทราย 65 กรัม เกลือ 1/4 ช้อนชา ผงฟู 2 ช้อนชา เนยละลาย 113 กรัม ไข่ เบอร์ 0 2 ฟอง ผิวเลมอน 2 ผล น้ำเลมอน 2 ช้อนโต๊ะ วานิลลา 1/2 ช้อนชา อุปกรณ์ : พิมพ์ Springform ขนาด 8 นิ้ว   วิธีทำ ผสมแป้ง น้ำตาลทราย เกลือและผงฟูให้เข้ากัน ใส่เนยละลาย ไข่ น้ำเลมอน ผิวเลมอน และวานิลลา คนพอเข้ากัน เทใส่พิมพ์ที่กรุกระดาษไข (พับให้สูงจากขอบพิมพ์) และทาน้ำมันไว้ เทครีมชีสลงบนหน้า นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส (ไม่ใช้พัดลม) นาน 35-40 นาที นำออกจากเตาอบ พักไว้ 15 นาที เอามีดแซะรอบขนม จับปลายกระดาษและยกขนมขึ้นวางบนตะแกรง พักให้คลายความร้อน แช่ตู้เย็นอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนตัด เวลาจะทานโรยน้ำตาลไอซิง

ส่วนผสม ไข่ขาวไข่ไก่ 5 ฟอง น้ำตาลทราย 120 กรัม น้ำตาลไอซิง 40 กรัม มะพร้าวคั่ว 40 กรัม กลิ่นดอกมะลิ 1/4 ช้อนชา วิธีทำ ตีไข่ขาวกับน้ำตาลทรายให้ขึ้นฟูตั้งยอดปานกลาง ร่อนน้ำตาลไอซิงใส่ลงไป ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน ใส่มะพร้าวคั่วและกลิ่นดอกมะลิ คนให้เข้ากัน ตักใส่ถุงบีบพร้อมหัวบีบ 1M บีบเมอแรงก์บนถาดอบที่รองด้วยกระดาษไขให้เป็นรูปพวงมาลัย และตกแต่งให้สวยงามตามชอบ นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 100-110 องศาเซลเซียส นาน 30-45 นาทีหรือจนแห้งกรอบ พักไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่ปิดสนิท

ส่วนผสม กะทิ 250 กรัม น้ำมะพร้าวอ่อน 250 กรัม น้ำลอยดอกมะลิ 100 กรัม หางกะทิ 100 กรัม ผงวุ้น 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 180 กรัม เกลือทะเล 1/3 ช้อนชา ใบเตย 2-3 ใบ เนื้อมะพร้าวอ่อน 1/2 ถ้วย น้ำดอกอัญชันและน้ำใบเตยสำหรับผสมสีเล็กน้อย วิธีทำ ผสมกะทิ น้ำมะพร้าวอ่อน น้ำลอยดอกมะลิ หางกะทิ และผงวุ้น คนให้ละลายเข้ากัน พักไว้ประมาณ 15 นาที นำขึ้นตั้งไฟต้มให้ส่วนผสมเดือดสักครู่ ใส่น้ำตาลทราย เกลือ และใบเตย ต้มให้เดือดสักครู่ ปิดไฟ พักไว้ให้หายร้อน นำมาผสมสีตามชอบ ตักใส่พิมพ์รูปวงรี ชั้นแรกเป็นสีฟ้าอ่อน พักให้เซ็ตตัว ใส่น้ำวุ้นกะทิสีขาวกับเนื้อมะพร้าวอ่อน พักไว้ให้เซ็ตตัว ใส่น้ำวุ้นสีฟ้าเข้มแล้วนำไปแช่ตู้เย็นประมาณ 15-25 นาทีให้เซ็ตตัวดี ส่วนผสมที่เหลือตักใส่พิมพ์ซิลิโคนรูปดอกไม้เตรียมไว้สำหรับตกแต่ง เคาะวุ้นออกจากพิมพ์ ตกแต่งด้วยวุ้นดอกไม้ให้สวยงาม

ส่วนผสม แป้งเค้ก 100 กรัม น้ำลอยดอกมะลิ 60 กรัม กะทิ 200 กรัม น้ำมะพร้าวอ่อน 50 กรัม น้ำตาลทราย 180 กรัม เกลือทะเลเล็กน้อย สีผสมอาหารสีเขียว วิธีทำ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันด้วยตะกร้อมือ นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวให้ส่วนผสมสุกและแห้งจนปั้นเป็นก้อนได้ ปิดไฟ พักไว้ให้คลายร้อนเล็กน้อย แบ่งแป้งออกมาเล็กน้อยผสมกับสีเขียว ตักใส่ถุงบีบพร้อมหัวบีบรูปใบไม้เบอร์ 113 เตรียมไว้ แป้งที่เหลือตักใส่ถุงบีบพร้อมหัวบีบเบอร์ 126 ค่อยๆ บีบแป้งสีขาวบนก้านร่มบีบดอกไม้เป็นรูปทรงดอกมะลิให้สวยงาม ตักใส่ถาดที่รองด้วยกระดาษไข บีบแป้งสีเขียวเป็นรูปใบไม้ นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 5-6 ชั่วโมง หรือนำไปตากแดดประมาณ 2-3 วันจนผิวนอกกรอบ

เอนจอยกับซาหริ่มในรูปแบบไอศกรีมได้ทั้งความหอมหวานแถมเย็นชื่นใจ   ส่วนผสม กะทิ 1 1/3 ถ้วย น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย เกลือป่น 1/4 ช้อนชา แป้งข้าวโพด 3 ช้อนโต๊ะ ซาหริ่ม 3 สีรวมกัน 1 ถ้วย เนื้อขนุนสุกหั่นชิ้นเล็ก 1/4 ถ้วย พิมพ์ไอศกรีม วิธีทำ เตรียมไอศกรีมโดยแบ่งกะทิมาผสมกับแป้งข้าวโพด คนให้เข้ากัน ผสมกะทิที่เหลือกับเกลือ น้ำตาลทราย และแป้งข้าวโพดที่ผสมกะทิไว้ ตั้งไฟคนให้น้ำตาลละลาย และส่วนผสมข้น ใส่ซาหริ่มและเนื้อขนุน คนให้เข้ากัน ตักใส่พิมพ์ไอศกรีม นำไปแช่ช่องแช่แข็งจนไอศกรีมแข็งอยู่ตัว

ส่วนผสมพานนาคอตตา   นมสดรสจืด 1 ถ้วย วิปปิงครีม 2 ถ้วย น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน 1/4 ช้อนชา เจลาติน (แช่น้ำเย็น) 4 แผ่น วิธีทำ ใส่ส่วนผสมทั้งหมด (ยกเว้นเจลาติน) ผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟต้มให้เดือดเล็กน้อย ใส่เจลาติน คนให้เข้ากัน ปิดไฟ เทใส่ถ้วยเสิร์ฟประมาณ 1/2 ของถ้วย นำไปแช่ในตู้เย็นประมาณ 30-45 นาทีจนเซ็ตตัว ส่วนผสมวุ้นส้มโอทับทิมสยามปากพนัง (สำหรับ 4 ที่) น้ำส้มโอ 1 ถ้วย น้ำส้ม 1/4 ถ้วย น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย น้ำเปล่า 1 ถ้วย ผงวุ้น 1 1/2 ช้อนชา เนื้อส้มโอทับทิมสยามปากพนังและเนื้อส้มโอนครชัยศรี สำหรับตกแต่งเล็กน้อย วิธีทำ ใส่ส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน คนให้ผงวุ้นละลายแล้วพักไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ต้มประมาณ 5-10 นาทีจนส่วนผสมเดือด และผงวุ้นละลาย ปิดไฟ คนส่วนผสมให้หายร้อน ฉีกเนื้อส้มโอใส่ถ้วยพานนาคอตตา ค่อยๆ รินน้ำวุ้นจนเกือบเต็มถ้วย นำไปแช่ในตู้เย็นจนเซ็ตตัว ตกแต่งด้วยเนื้อส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และเนื้อส้มโอนครชัยศรีให้สวยงาม