เข้าหน้าฝนทีไร พ่อแม่หลายคนคงใจไม่ค่อยดี เพราะช่วงนี้มักได้ยินข่าวเด็ก ๆ ป่วยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะจากโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่ถ้าไม่ระวังอาจเป็นอันตรายได้ สาเหตุก็มาจากอากาศที่ชื้นแฉะ ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย และเด็ก ๆ เองก็ยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงมากนัก ยิ่งช่วงเปิดเทอมที่ต้องเจอกันทุกวัน เล่นกัน สัมผัสกัน ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคระบาดสูงกว่าปกติ

วันนี้เราเลยอยากชวนพ่อแม่ทุกบ้าน มารู้จักกับ 5 โรคระบาดในเด็กที่พบบ่อยช่วงหน้าฝน พร้อมวิธีรับมือและการป้องกันจากคำแนะนำของ พญ.สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจในเด็ก จาก โรงพยาบาลวิมุต

เจาะ 5 โรคที่พบบ่อยในหน้าฝน พร้อมอาการที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
ช่วงฤดูฝน เด็ก ๆ มักเสี่ยงต่อโรคระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อผ่านการสัมผัส และโรคจากยุงลาย เรามาดูกันดีกว่าว่ามีโรคอะไรบ้างที่พ่อแม่ต้องระวัง
- โรคมือ เท้า ปาก พบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กก่อนเข้าเรียนและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรง
อาการ : มีไข้สูง แผลในปาก มีผื่นที่มือและเท้า หากติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง กล้ามเนื้อ และหัวใจ
- ไข้หวัดใหญ่ รุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป เพราะทำให้เด็กมีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ไอ อ่อนเพลีย อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย ถ้าปล่อยไว้อาจเสี่ยงปอดบวม หรือสมองอักเสบ
- โรคปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งอาจพัฒนามาจากไข้หวัดธรรมดา
อาการ : ไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย เสียงหายใจผิดปกติ บางรายริมฝีปากเขียวคล้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอาการรุนแรงแล้ว
- โรคตาแดงจากไวรัส โรคติดต่อที่แพร่กระจายง่ายมากในเด็กเล็ก
อาการ : ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล ขี้ตาเยอะ
- ไข้เลือดออก โรคยอดฮิตหน้าฝนที่มียุงลายเป็นพาหะ
อาการ : ไข้สูง ปวดเมื่อย มีจุดเลือดสีแดงออกตามตัว ระยะที่ต้องระวังคือช่วงที่ไข้ลดลง เพราะอาจเกิดภาวะช็อก และอาจมีอาการเลือดออกร่วมด้วย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด

พ่อแม่ควรรู้! ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ทางออกเสมอไป
หลายบ้านพอเห็นลูกเริ่มป่วยก็รีบไปซื้อยามากินเองทันที โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคระบาดในเด็กกว่า 80–90% เกิดจากไวรัส ที่ไม่มียารักษาเฉพาะ ยกเว้นบางโรค เช่น โควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ นอกจากการใช้ยาปฏิชีวนะจะไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคจากไวรัสดีขึ้น ยังอาจทำให้เกิดการดื้อยาในอนาคตหรือเกิดผลข้างเคียงจากยา สิ่งที่พ่อแม่ทำได้เมื่อลูกติดโรคเหล่านี้คือต้องดูแลตามอาการ หมั่นเช็ดตัวและกินยาลดไข้ สิ่งสำคัญที่สุดคือหากลูกเริ่มมีอาการน่าเป็นห่วง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

วิธีป้องกันโรคหน้าฝนในเด็ก
วิธีดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากโรคระบาดหน้าฝนที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ง่าย ๆ คือ
- กินอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
- เสริมวัคซีนจำเป็น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนไข้เลือดออก และวัคซีนมือเท้าปาก
- ให้ความรู้เด็ก ๆ เรื่องสุขอนามัย เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ใช้ช้อนกลาง ใส่หน้ากากอนามัยในที่แออัด
- หมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย หากพบอาการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่น่าเป็นห่วง ควรรีบพาไปพบแพทย์
โรคระบาดในเด็กช่วงหน้าฝนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมหมั่นพาลูกไปฉีดวัคซีนที่จำเป็น และสังเกตอาการผิดปกติของลูกอยู่เสมอ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยในเด็ก หรืออยากปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง สามารถติดต่อศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต ได้ที่ โทร. 0-2079-0038 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application นัดหมายและปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้สะดวกทุกที่
ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลวิมุต
Tag:
การดูแลสุขภาพ, โรงพยาบาลวิมุต
ความคิดเห็น