“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

วันที่ 9 สิงหาคม 2567  237 Views

เชฟตุ๊กตา - สุพัตรา สารสิทธิ์ คุณแม่ผู้มีจิตใจอยากแบ่งปันความรู้ด้านอาหารไทยโบราณอย่างไม่มีหวง เปิดบ้านยี่สารให้เราได้เยี่ยมชมพร้อมเล่าความเป็นมาอย่างเป็นกันเอง แรกเริ่มคุณตุ๊กตาทำงานรับราชการก่อนจะเปลี่ยนบ้านโบราณซึ่งมีอายุมากกว่า 200 ปีของครอบครัวเป็นร้านอาหารขายเมนูไทยพื้นบ้าน ไทยโบราณ ไทยในตำนาน เรียกว่าทุกแบบของอาหารไทย และตั้งชื่อว่าบ้านยี่สาร โดยเป็นการนำชื่อวัดเขายี่สาร ตำบลบ้านเกิดที่จังหวัดสมุทรสงครามมาใช้ (เชฟให้เกร็ดความรู้ว่า คำว่ายี่สาร จริงๆ แล้วเพี้ยนมาจากคำว่า บาซา แปลว่า การค้าขาย)

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

คุณตุ๊กตาบอกว่าช่วงแรกร้านไม่ได้ใหญ่โตขนาดนี้ มีแค่ประมาณ 20 โต๊ะเท่านั้น แต่พอมีคนมากิน มีสื่อมารีวิว เขาก็ชอบและบอกต่อกันจนต้องขยายพื้นที่ร้านให้กว้างขวางเพื่อรองรับลูกค้า

ถามถึงอาหารโบราณ เชฟก็ยกตัวอย่างให้ฟังหลายเมนู เช่น น้ำพริกมหามาดหรือน้ำพริกมหาด ลักษณะคล้ายน้ำพริกลงเรือแต่ใส่มะแขว่นลงไปด้วย แกงคั่วหัวตาลซึ่งต้องพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกหัวตาล หรือจะเป็นผัดหมี่โบราณซึ่งที่ร้านทำซอสเอง นอกจากนี้ยังมีเมนูปลาทูกับผักชะคราม ปลาทูต้มมะดัน (ฟังไปก็รู้สึกทึ่งที่อาหารไทยมีเยอะมากกว่าที่รู้จัก)

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

อาจจะคิดว่าลูกค้าที่มาร้านนี้ต้องมีแต่ผู้สูงอายุแน่ๆ จริงๆ แล้ววัยรุ่นก็มี ต่างชาติก็มา อย่างวัยรุ่นจะมีกลุ่มที่เปิดใจให้อาหารไทยโบราณ พอลองชิมแล้วติดใจจึงมาอีก ส่วนต่างชาติเชฟตุ๊กตาบอกว่าเขาจะชอบสั่งอะไรที่เป็นจานใหญ่ๆ เช่น เนื้อปูหลน ต้มข่าไก่ ต้มข่าปลาสลิด ต้มยำกุ้ง กะพงสองใจ ฯลฯ 

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

นอกจากบ้านยี่สารที่สร้างมาจะเติบโตมาถึงจุดที่เป็นที่รู้จัก และยอมรับโดยทั่วกันแล้ว ความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของเชฟตุ๊กตาที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ น้องสตางค์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ซึ่งหลายคนอาจจะเห็นแล้วว่าน้องเจริญรอยตามคุณแม่มาจริงๆ ในการรักการทำอาหารและลงแข่งขันรายการต่างๆ

เชฟตุ๊กตาเล่าว่า ตั้งแต่น้องสตางค์อยู่ในท้อง คงสัมผัสได้ว่าแม่ของเขาทำงานตลอดเวลา เมื่อได้ลืมตาดูโลกน้องจึงเป็นคนที่มาช่วยแม่อีกแรง โดยเริ่มจากจ่ายตลาดกับแม่ จดจำคำพูดเวลาแม่ของเขาแนะนำอาหารให้ลูกค้าจนสามารถแนะนำลูกค้าได้เอง “แกงส้มต้มส้มต้มโคล้งต้มข่าแกงป่าต้มยำปลาทูต้มมะดัน” การแนะนำอาหารที่จำได้ขึ้นใจ ทั้งช่วยแม่ในครัว คอยคิดปรับปรุงเมนูอาหารและการบริการของบ้านยี่สารจนกระทั่งตอนนี้สามารถบริหารร้านบ้านยี่สารสาขา 2 ได้เองแล้วเรียบร้อย

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

และเชฟยังบอกอีกว่าหลายอย่างก็เรียนรู้มาจากน้องสตางค์ เช่น เทคนิกการทำอาหารต่างชาติ หรือข้อคิดในเรื่องการบริหารร้าน ซึ่งแต่เดิมเชฟตุ๊กตาจะเป็นคนที่รับลูกค้าเข้าร้านจนล้น ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่ตามมาว่าครัวจะทำทันไหม โต๊ะจะเรียบร้อยหรือเปล่า ซึ่งน้องสตางค์เล็งเห็นแล้วว่าไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนั้นเพราะอาจจะกระทบภาพลักษณ์ของร้านได้ จึงพูดคุยกับคุณแม่อย่างจริงจังว่าอย่าปล่อยคิวมากเกินไป ควรแจ้งลูกค้าตรงๆ ถ้าเขามั่นใจในคุณภาพของร้าน เขาอาจจะยอมรอก็ได้ ถ้าทำอย่างนั้นนอกจากจะไม่กดดันเชฟ และพนักงานแล้ว การบริการจะทั่วถึงมากกว่า

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

ความสามารถของน้องสตางค์มาจากการเรียนรู้จากคุณแม่ และค้นคว้าด้วยตนเอง บวกกับการสนับสนุนจากครอบครัวทำให้กล้าออกไปเผชิญเวทีแห่งการแข่งขันทำอาหารตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่อย่าง Thaifex และ MasterChef ก็บุกตะลุยคว้าประสบการณ์ และเหรียญทอง เหรียญเงินมาแล้วทั้งนั้น และเป็นน้องสตางค์เองที่คิดเมนู “พราวเดือน” ให้บ้านยี่สาร โดยเมนูนี้คือแกงเขียวหวานแบบแห้ง ตกแต่งอย่างสวยงาม 

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

จริงๆ แล้วความชอบของน้องสตางค์ไม่ใช่แค่อาหารไทยแต่อาหารอิตาเลียนน้องก็ทำได้ หรือจะเป็นการนำเทคนิกจากอาหารญี่ปุ่นมาดัดแปลงในการจัดจานอาหารไทย อย่างที่เคยแนะนำคุณแม่ของตัวเองว่าให้เปลี่ยนจากการหั่นต้มหอมชิ้นใหญ่ๆ เป็นการหั่นชิ้นเล็กๆ แล้วโรยบนอาหารเพื่อไม่ให้กลบวัตถุดิบอื่น 

ถามว่าผู้เป็นแม่ตั้งใจให้ลูกชายคนนี้เดินทางสายอาหารตั้งแต่ต้นเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเชฟตุ๊กตาเคยให้น้องได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ท้ายที่สุดเขาก็พบว่า การทำอาหารนี่แหละคือตัวตนของเขา

หลังจากนั้นคุณแม่ก็สนับสนุนเต็มที่ เพราะคนเป็นแม่คงไม่อยากขออะไรมากไปกว่าการได้เห็นลูกทำสิ่งที่รักและมีความสุขนั่นเอง

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

“เชฟตุ๊กตา” บ้านยี่สาร เล่าเรื่องอาหารไทยโบราณ และบทบาทของความเป็นแม่ที่มีแต่ให้

ปัจจุบันน้องสตางค์จึงเลือกเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร และอยากเปิดร้านอาหารในสไตล์ของตัวเอง มาส่งกำลังใจให้ร้านในอนาคตของน้องปังๆ เหมือนบ้านยี่สารกันนะ

ฝากติดตามเชฟตุ๊กตาที่ Facebook :  กับข้าวกับตา Youtube : กับข้าวกับตา Instagram : kubkhaokubta


Tag: ร้านอาหารไทย, อาหารไทย

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed