ชวนทำเค้กเนยสไตล์เยอรมัน อร่อยง่ายๆ ได้ที่บ้าน

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564  2,912 Views (0 รีวิว)

หมวดหมู่อาหาร : เบเกอรี่

นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 252 เดือนกรกฎาคม 2564

ชวนทำเค้กเนยสไตล์เยอรมัน อร่อยง่ายๆ ได้ที่บ้าน

เยอรมันเรียก Butterkuchen (บุตเตอร์คูเคิน) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Butter Cake (บัตเตอร์เค้ก) แปลเป็นไทยว่า เค้กเนย แต่คนไทยเรียก “ขนมปังเนยสด” ซะงั้น! เอ๊ะ...ยังไง?

บุตเตอร์คูเคินหรือเค้กเนยสไตล์เยอรมันที่คนไทยเรียกขนมปังมีเหตุมาจากเค้กนี้ใช้ยีสต์เป็นตัวทำให้ขึ้นฟูค่ะ บรรดาขนมอบทั้งหลายที่ใช้ยีสต์คนไทยเรียกเหมารวมไปหมดว่า...ขนมปัง!

เค้กเนยสไตล์เยอรมันไม่เหมือนเค้กเนยที่คนไทยรู้จักนะคะ ของเรานิยมอบด้วยพิมพ์ขนมปัง Loaf Pan) และไม่แต่งหน้า แต่ของเยอรมันเป็นเค้กถาด (Sheet Cake) รูปร่างจึงออกแนวแผ่นแบนและแต่งหน้าได้หลากหลายด้วยผลไม้ต่างๆ ทั้งแบบสด เชื่อม กระป๋อง หรือถั่วเปลือกแข็งต่างๆ โดยมีอัลมอนด์ยืนหนึ่ง มาเลย ใครเคยไปเยอรมนีรับรองเห็นละลานตาในทุกร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต 

ป้าเจี๊ยบทำบุตเตอร์คูเคินและขนมอบหลายรายการ เมื่อคราวหนีโควิดกทม. ไปอยู่บ้านของคุณพ่อน้องแพรบนดอยสูงที่เชียงใหม่ วางแผนทำวันละอย่าง โดยกะให้มีปริมาณที่สมาชิก 3 คนคือคุณพ่อคุณแม่ของน้องแพรและป้าเจี๊ยบสามารถกินหมดได้ในวันเดียวเพื่อที่ป้าเจี๊ยบจะได้ทำอย่างอื่นในวันรุ่งขึ้น เตาอบบ้านนี้ขนาดเล็กประมาณ 20 ลิตรเหมือนของป้าเจี๊ยบที่บ้านกรุงเทพฯ ทุกอย่างจึงราบรื่นมาก ไม่มีรายการซ้ำกันเลยตลอด 2 อาทิตย์ และป้าเจี๊ยบได้สมญาใหม่ว่า “ป้าเจี๊ยบแป้งถ้วยเดียว”…ฮา!

เมื่อทำอะไรเสร็จป้าเจี๊ยบก็จะถ่ายรูปส่งเข้าไลน์ครอบครัวรายงานชาวกรุงฯ เป็นเชิงอวดว่า ถึงจะอยู่บนดอยก็มิได้ขัดสน เปิดครัวทำขนมแบบที่เคยทำได้ หุหุ

และแล้วก็มีวันหนึ่งที่น้องแพรส่งข้อความเข้ามาทันทีว่า “อยากกินอันนี้” นั่นคือ บุตเตอร์คูเคิน ซึ่งป้าเจี๊ยบไม่เคยทำให้สมาชิกครอบครัวกินมาก่อน

กลับถึงกรุงเทพฯ มารับสมญาเดิม “ป้าเจี๊ยบนายกสมาคมหลงหลาน”  รีบจัดการทำให้น้องแพรทันที

เริ่มด้วยการเตรียมชามแห้งมีแป้งอเนกประสงค์ 1 ถ้วยตวง ยีสต์แห้งแบบ Instant 1/2 ช้อนชา ใช้ตะกร้อมือคนๆ ให้ส่วนผสมทั้ง 2 อย่างเข้ากันดี พักไว้

ต่อด้วยชามเปียกมีไข่ไก่เบอร์สอง 1 ฟอง  นมกล่องยูเอชทีรสจืด 3 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เนยสดรสเค็มละลาย 3 ช้อนโต๊ะ วานิลลา 1/2 ช้อนชา ใช้ช้อนคนให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน น้ำตาลละลายหมด

จากนั้นป้าเจี๊ยบทำบ่อตรงกลางชามแป้ง เทชามเปียกลงไปแล้วใช้ช้อนไม้ค่อยๆ คนแบบดึงแป้งรอบๆ เข้ามาทีละน้อยๆ จนกระทั่งไม่เห็นฝุ่นแป้ง ส่วนผสมทั้งหมดกลายเป็นก้อนโดที่เนื้อนุ่มๆ ป้าเจี๊ยบใช้หมวกอาบน้ำพลาสติกซึ่งเก็บมาไว้เยอะจากโรงแรมต่างๆ ที่ไปพักมาใช้ครอบชาม อิอิ วางชามไว้ในเตาติ๊ง 15 นาทีเพื่อพักโด

ระหว่างรอป้าเจี๊ยบปูถาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 8 X 6 x 1.5 นิ้วด้วยกระดาษรองอบเตรียมไว้ค่ะ   หั่นเนยสดรสเค็มเป็นลูกเต๋าขนาด 1 เซนติเมตร จำนวน 20 ลูก แช่ไว้ในตู้เย็น และเตรียมส่วนผสมอื่นที่จะใช้ใส่ถ้วยวางไว้บนโต๊ะ มีน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะผสมผงอบเชย 1/8 ช้อนชา นมกล่องยูเอชทีรสจืด 3 ช้อนโต๊ะ และอัลมอนด์แผ่นอบ 1/4 ถ้วยตวง สำหรับอัลมอนด์แผ่นนี้ป้าเจี๊ยบซื้อมาอย่างที่ยังไม่ได้อบนะคะ ตอนทำบนดอยก็ใช้แบบดิบๆเลย  แต่ตอนกินพบว่าบางชิ้นมีกลิ่นเหม็นหืนเลยรีบจัดการอบอัลมอนด์ที่เหลือแล้วเก็บใส่กล่องไว้ วิธีอบก็ทำง่ายๆ โดยใช้ไฟบน-ล่าง ความร้อน 175 องศาเซลเซียส หรือ 350 องศาฟาเรนไฮต์ ประมาณ 5-7 นาที และคอยเขย่าถาดให้สุกทั่วกันค่ะ

ป้าเจี๊ยบโรยแป้งนวลบนเคาน์เตอร์ เอาโดที่พักไว้ออกมาวาง โรยแป้งนวลบนโดอีกนิดแล้วใช้ลูกกลิ้งรีดเป็นแผ่นขนาด 8 x 6 นิ้ว นำไปใส่ในถาดที่เตรียมไว้ จัดโดให้แผ่อย่างสม่ำเสมอกัน เอาผ้าคลุมไว้แล้วพักต่ออีก 15 นาที  ไม่ลืมอุ่นเตาอบรอไว้โดยเปิดปุ่มไฟบน-ล่าง ปุ่มความร้อน 190 องศาเซลเซียส หรือ375 องศาฟาเรนไฮต์ ปุ่มเวลา 30 นาที 

เมื่อครบ 15 นาทีป้าเจี๊ยบใช้นิ้วชี้แตะแป้งนิดหน่อย เจาะโดเป็นรูๆ เรียงแถวกัน ด้านยาว 5 รู ด้านกว้าง 4 รู หยิบลูกเต๋าเนยมากดลงในแต่ละรู ใช้แปรงซิลิโคนจุ่มนมทาผิวหน้าบางๆ จนทั่ว เก็บนมที่เหลือไว้ใช้อีกครั้งตอนอบเสร็จ โรยหน้าด้วยน้ำตาลอบเชย นำเข้าเตาอบ ปรับปุ่มเวลาเป็น 20 นาที ตอนที่ทำบนดอยป้าเจี๊ยบโรยแผ่นอัลมอนด์ดิบทับน้ำตาลไปเลยในขั้นตอนนี้ค่ะ

ทันทีที่ได้ยินเสียงติ๊ง! ป้าเจี๊ยบเปิดเตาอบดึงถาดออกมา ใช้แปรงซิลิโคนจุ่มนมชุ่มๆ  ทาหน้าเค้กร้อนๆ อย่างเร็วจนหมดนมที่เตรียมไว้แล้วโรยอัลมอนด์จนทั่ว  เก็บคืนเข้าเตาอบต่อโดยไม่เปิดไฟอีกประมาณ 10 นาทีก็พร้อม!

โทรตามน้องแพรมารับบุตเตอร์คูเคินได้แล้ว!


Tag : Simply Sweet, เบเกอรี

เรื่องโดย

คะแนนและรีวิว


0.0 จาก 5

ให้คะแนนและเขียนรีวิว

ยังไม่มีรีวิว

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed